"วิสัยทัศน์" เป็นหน่วยงานเวชระเบียนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์ความรู้ด้านบริการและวิชาการที่ได้มาตรฐาน

เวชระเบียน หัวใจโรงพยาบาล ผู้อาภัพ

นับเป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่งที่ได้มีโอกาสกล่าวถึง เวชระเบียน หน่วยงานเวชระเบียน ที่ถูกกล่าวว่านี่คือหัวใจของสถานบริการสาธารณสุข แต่ที่ผ่านมาเวชระเบียน ถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นขั้นตอนหนึ่งในการจำแนกและการเอาไว้บันทึกรายการที่แพทย์ตรวจเท่านั้น จึงทำพอเป็นพิธี ในขณะที่เวชระเบียนนั้น อย่างที่ข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้แล้วหลายครั้งว่า เวชระเบียน(Medical Record) ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ในความควบคุมของ เจ้าหน้าที่เวชระเบียน (Medical Record Librarian) ซึ่งจะต้องเป็นแพทย์หรือผู้ที่มีคุณวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับแพทย์ที่ผ่านการลงทะเบียน ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านการแพทย์และเข้ารับการศึกษาทางด้านเวชระเบียนจนสามารถได้รับการลงทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่เวชระเบียน ในทางการแพทย์จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทางด้านนี้มีความสำคัญมากในสถานบริการทางการแพทย์ การจัดให้มีการศึกษาทางด้านเวชระเบียนในประเทศไทยก็มีประวัติมายาวนานหลายสิบปี โดยแพทย์หญิงสมพร เอกรัตน์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลศิริราชพยาบาล ผู้ได้รับการลงทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่เวชระเบียน (Registration : Medical Record Librarian) ได้จัดให้มีการศึกษาทางด้านเวชระเบียนขึ้นโดยเฉพาะเพื่อให้มีบุคลากรทางด้านเวชระเบียน ไปประจำอยู่ในสถานบริการสาธารณสุขต่าง ๆ ในประเทศไทย และมีการจัดการเวชระเบียนอย่างมีระบบ เพราะระบบเวชระเบียน (Medical Record System) เป็นระบบใหญ่ที่ต้องวางรากฐานให้สมบูรณ์เป็นอันดับแรกในการจัดการของสถานบริการสาธารณสุข หลังจากที่มีการจัดการเรื่องอาคารสถานที่ในการรักษาพยาบาลและบุคลากรเรียกร้อยแล้ว ในระบบของเวชระเบียนนั้นแบ่งออกเป็นระบบย่อย ๆ ดังนี้
1. ระบบเวชระเบียน และการไหลเวียนเอกสารทางการแพทย์
2. ระบบเวชสถิติ
3.ระบบการศึกษาวิจัยทางการแพทย์
4.ระบบเวชสารสนเทศและคอมพิวเตอร์
5.ระบบเครือข่ายและการเชื่อมโยงข้อมูล
ซึ่งระบบย่อยเหล่านี้อาจมีการแยกไม่เหมือนกันในแต่ละสถานบริการแล้วแต่ความเหมาะสม หรืออาจแบ่งเป็นผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในของแต่ละระบบเป็นระบบย่อยไปอีกก็แล้วแต่ความเหมาะสม เวชระเบียนที่เป็นระบบย่อยเหล่านี้รวมกัน เป็นระบบเวชระเบียน ซึ่งถือเป็นหัวใจของสถานบริการสาธารณสุข เพราะสถานบริการสาธารณสุขจะมีประสิทธิภาพแค่ไหนในการรักษาและดูแลผู้ป่วยก็สามารถดูจากระบบเวชระเบียนได้ทั้งหมด กระบวนการรรักษาพยาบาลจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนก็ดูได้จากระบบเวชระเบียนนั่นเอง  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/20521
ก็มาถึงตอนที่ 2 ของการกล่าวถึง เวชระเบียน ชื่อฟังดูแล้วอาจเข้าใจง่าย ๆ ว่า "เอกสารต่าง ๆ ทางการแพทย์" ถ้าแปลตามตัวหนังสือ แต่เวชระเบียนอย่างที่กล่าวมาในตอนที่ 1 ว่า มีอะไรมากกว่าเรื่องของการจัดการเอกสารทางการแพทย์มาก เพราะเป็นหน่วยงานสำคัญที่สามารถจะดูได้ว่าสถานบริการสาธารณสุข นั้น ๆ มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เพราะการดูจากเวชระเบียนนั้นเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สุด ในการที่จะวัดผลของการให้การบริการ การรักษาพยาบาล การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ผลการรักษาของผู้ป่วย เวลาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วย การวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำขนาดไหน นอกจากนี้ยังรวมถึงการสั่งการ การสื่อสาร การปรึกษาหารือกันต่าง ๆ ของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล และการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า เวชระเบียน ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ คือ -ระเบียนทางการแพทย์ -สถิติ -วิจัยทางการแพทย์ -เวชสารสนเทศ และ -คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์  การจะวัดประสิทธิภาพของสถานบริการสาธารณสุขต่าง ๆ จึงสามารถดูได้จากส่วนต่าง ๆ ของงานทางด้านเวชระเบียน ที่เดียวจบ ไม่ต้องดูอย่างอื่นให้วุ่นวายก็ทราบทันทีว่า สถานบริการสาธารณสุขเหล่านั้นให้การบริการเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
           การเห็นคุณค่าของเวชระเบียนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด ในการพัฒนาการให้บริการสาธารณสุข เพราะถ้าเวชระเบียนถูกพัฒนาไปทุก ๆ ส่วนตามที่กล่าวมา ก็สามารถพัฒนาประสิทธิภาพของโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขไปโดยอัตโนมัติ แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาองกรค์ทางเวชระเบียนมีไปตามมีตามเกิดเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะอาจมีหลายฝ่ายที่มองเห็นว่า เวชระเบียนเป็นงานประจำของห้องบัตรที่มีการทำเป็นปกติทุกสถานบริการสาธารณสุขอยู่แล้ว การพัฒนาส่วนอื่น ๆ ก็แยกกันทำไม่ได้ทำอย่างเป็นกิจลักษณะ ทำให้กระบวนการการพัฒนางานด้านเวชระเบียนก็ไม่ได้มีการพัฒนาไปอย่างที่ควรจะเป็น เหตุผลหลัก ๆ ก็อาจเป็นไปได้ว่าสถานบริการสาธารณสุขทีมีขนาดเล็กมาก ๆ เช่นคลินิค หรือร้านหมอโดยทั่ว ๆ ไป เวชระเบียนอาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับความคิดของแพทย์ เนื่องจากทุกอย่างจัดการอยู่ที่แพทย์คนเดียว บุคลากรที่จะมาจัดการทางเวชระเบียนนั้น อาจเป็นลูกจ้างร้านหมอที่ทำหน้าที่ทุกอย่าง รวมถึงเวชระเบียนด้วย การมองเห็นคุณค่าของงานเวชระเบียนจึงอาจน้อยมาก และสำหรับสถานบริการสาธารณสุขที่มีการเห็นว่า เวชระเบียนคืองานทำบัตร-นัดผู้ป่วย-ช่วยบันทึกและจัดเก็บค้นหา ก็คงไม่มีความสำคัญมากนักเพราะอาจให้ผู้ช่วยพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ไม่มีที่ลงมาดูแล และทำงานร่วมกับลูกจ้างของสถานบริการสาธารณสุข และงานที่คนอื่นมองเห็นก็มีเพียงเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงต้องยอมรับว่า งานเวชระเบียนที่เข้าใจแบบนั้นคงไม่มีความหมายมากนัก แต่ถ้าให้ความสำคัญกับงานเวชระเบียน และมีการพัฒนาไปทุก ๆ ส่วนของงานเวชระเบียน ก็จะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และเป็นหัวใจของสถานบริการสาธารณสุขอย่างแท้จริง ยังมีต่อในตอนต่อไปอย่าลืมติดตาม.....http://www.gotoknow.org/blogs/posts/29919
ห่างหายไปนานกว่าจะมีตอนที่ 3 แต่ก็ต้องมีจนใด้ เนื่องจากหัวใจของข้าพเจ้า อยู่กับเวชระเบียนเสมอ และข้าพเจ้าก็ภูมิใจกับคำว่าเวชระเบียนมาก ๆ ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังจะเขียนข้อความนี้ ข้าพเจ้ากำลังเพ่งมองไปยังรูปของอาจารย์หมอของชาวเวชทุกคนคือ อาจารย์แพทย์หญิงสมพร เอกรัตน์ ด้วยความอาลัยยิ่งกับอาจารย์หมอด้านเวชระเบียนผู้ให้กำเนิด เวชระเบียนของประเทศไทย
 
     มองไปก็ยิ่งทำให้น้ำตาซึมออกมาด้วยความคิดถึง และหวนรำลึกถึงบรรยากาศในห้องเรียนที่มีอาจารย์หมอสอนวิชาเวชระเบียน ด้วยความรักและเอาจริงเอาจังกับงานด้านเวชระเบียนเสมอ บรรยากาศห้องเรียนเวชระเบียน บนชั้นสามอาคารทรงไทยริมเจ้าพระยาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขของการเรียนวิชาเวชระเบียน ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าอยากจะร้องออกมาในเวลานี้ให้ใด้
    เวชระเบียนในความหมายของ อาจารย์แพทย์หญิงสมพร เอกรัตน์ ยิ่งใหญ่เสมอ และยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าต้องเขียนถึงเวชระเบียนอยู่เสมอ เพราะแม้ว่าขณะนี้ข้าพเจ้าออยู่ในแวดวงของงานวิจัยที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการด้านสาธารณสุขน้อยมาก แต่ก็ยังไม่ลืมงานทางด้านนี้ ที่อาจารย์หมอสมพรกล่าวย้ำเสมอว่า เวชระเบียนคือหัวใจของโรงพยาบาล ประโยคนี้ยังก้องอยู่ในหูของข้าพเจ้าเสมอ และดีใจมากที่เห็นอาจารย์อ้อย ที่ดูแลภาควิชาเวชระเบียนของวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขกาญจนาภิเษก นำบทความเวชระเบียนคือหัวใจของโรงพยาบาลที่ข้าพเจ้าเคยบันทึกไว้ไปเป็นหัวข้อเกี่ยวกับองค์กร รวมถึงมีอีกหลายเว็บที่ลิงค์เข้าไปโพสท์ไว้ ก็ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ามีกำลังใจที่จะกล่าวถึงเวชระเบียนมากขึ้น
       ดังที่กล่าวไว้ในสองตอนที่แล้วว่าเวชระเบียนครอบคลุมงานหลายด้านมากทีเดียว แต่ตำแหน่งปัจจุบันของคนที่ทำงานด้านเวชระเบียนก็พัฒนาไปได้ไม่มากนัก ทุกครั้งที่เจอกับคนที่ทำงานด้านเวชระเบียนก็ได้ยินจนเต็มสองหูเรื่องความน้อยเนื้อต่ำใจเรื่องตำแหน่งและระดับของบุคลากรทางด้านเวชระเบียนเสมอ โผล่หน้าเข้าไปที่พัทลุงก็บอกเงินเดือนตันไปแล้วสองปี ระดับก็ติดอยู่แค่5 ที่อื่น ๆ อีกหลายที่ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ก็กลับออกมาด้วยความหดหู่เสมอ นอกจากนี้คำถามสุดฮิตที่ถูกถามกับข้าพเจ้าเสมอก็คือ ..เรียนต่อเวชระเบียนแล้วทำไมตำแหน่งไม่ก้าวหน้าเลย... จะเรียนต่อเวชระเบียนไปทำไม... จนข้าพเจ้าตะกุกตะกักที่จะตอบไปเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับงานที่เป็นหัวใจของโรงพยาบาลอย่าง เวชระเบียน ข้าพเจ้าให้กำลังใจทุกคนที่ทำงานด้านเวชระเบียนทุกคนว่างานของพวกเราสำคัญมาก ทุกคนก็จะถามออกมาในทำนองเดียวกันว่า สำคัญแล้วทำไมพวกเราก้าวหน้ากันแค่นี้ ทำให้ข้าพเจ้าต้องนิ่งไปเสมอ แต่อาจจะเป็นเพราะข้าพเจ้าไม่เคยคิดอย่างนี้มั้งเลยตอบคำถามไปไม่ค่อยถูก ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าทำหน้าที่เวชระเบียน ก็มีความรู้สึกว่างานของเรากว้างกว่างานอื่น ๆ ในสถานประกอบการด้านสาธารณสุข ไม่เคยคิดถึงตำแหน่งและระดับอะไรทั้งสิ้น ก้มหน้าก้มตาขยายงานออกไปอย่างเดียว อยากเรียนต่อทางเวชระเบียนอยู่ทุกวัน เฝ้ารอคอยอยู่ทุกวันที่ทำงานด้านเวชระเบียนอยู่ เมื่อมีโอกาสได้เรียนข้าพเจ้าก็กระโดดไปเป็นกลุ่มแรกทันทีในการเรียนต่อทางด้านเวชระเบียน และก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลยแม้แต่น้อย มหิดลคือสุดยอดแห่งมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์ของไทย เวชระเบียนโดยอาจารย์หมอสมพร เอกรัตน์ อาจารย์ดลชาติ ตันติวานิช และศาสตราจารย์บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ ก็ได้เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้อย่างน่าภาคภูมิใจ นำไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ปริญญาเอกได้โดยไม่ต้องอายใคร สำหรับข้าพเจ้าก็โอเคนะ แต่เมื่อมาย้อนดูพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่ยังโยนคำถามใส่ข้าพเจ้าเสมอเมื่อเจอกันดังคำถามที่เอ่ยมาข้างต้น ก็คงต้องบอกว่า นี่แหละคือ เวชระเบียน หัวใจโรงพยาบาลผู้อาภัพ...อย่างแท้จริง ยิ่งในปัจจุบัน งานด้านเวชสารสนเทศ งานด้านการสือสารข้อมูล และงานวิจัยทางการแพทย์ก็ถูกพัฒนาขึ้นโดยคนอื่นที่ไม่ใช่เวชระเบียนก็ยิ่งทำให้งานเล็กลงเรื่อย ๆ เพราะงานเหล่านั้นก็เป็นเอกเทศ และบางที่ดูจะยิ่งใหญ่กว่างานเวชระเบียนเสียด้วยซ้ำ ก็ยิ่งเป็นห่วงเวชระเบียนมากขึ้น ในการก้าวไปของเวชระเบียน ที่จะต้องดูแลเวชสารสนเทศ การสื่อสารข้อมูลทางการแพทย์ และวิจัยทางการแพทย์ด้วย ตามหลักการเดิมที่อาจารย์แพทย์หญิงสมพร เอกรัตน์ได้เคยกล่าวถึงเสมอ ๆ ก็ยิ่งทำให้หัวใจทางการแพทย์ดวงนี้กำลังเป็นหัวใจตีบตัน และอาจลุกลามเป็นหัวใจล้มเหลวในที่สุด
    เจอกันในตอนต่อไปนะครับ
อาจารย์แสงเทียน  อยู่เถา : สำนักวิจัย นครศรีธรรมราช http://www.gotoknow.org/blogs/posts/124775





12.12.55

การสรุป Clinical Summary ในเวชระเบียน สิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง

ให้เวลาและคุณค่ากับการสรุปชาร์ทสักนิดนะครับ

เคยมั้ย ที่เวลาตรวจคนไข้ที่ติดตามการรักษามา Follow up แล้วหงุดหงิดใจ เมื่อข้อมูลในเวชระเบียน ไม่เพียงพอที่จะตัดสินใจทำอะไรต่อ หรือไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อคนไข้ admit อยู่ ต้องไปค้นประวัติเก่าตอนนอนโรงพยาบาลมาดู

ขณะเดียวกัน เวลา discharge คนไข้ ไม่มีเวลาจะเขียนสรุปชาร์ท ต้องเอามาสรุปทีหลัง บางทีก็นึกไม่ออก หรือไม่มีเวลาจะสรุป เขียนให้มันเสร็จ ๆ ไป มาทีดองกันมาหลายวัน ( แต่เดี๋ยวนี้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ จะให้แพทย์สรุปให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ )

มาตรฐานของการเขียน Clinical summary คือ ต้องมี

1. การบันทึกสรุปเนื้อหาเกี่ยวกับสาเหตุหรือปัญหาผู้ป่วยแรกรับหรือการวินิจฉัยโรคเมื่อสิ้นสุดการรักษา

2. การ investigated

3. การรักษา (การดำเนินของโรค)

4. ผลการรักษา

5.แผนการรักษาฟื้นฟูและสร้างเสริมสุขภาพหลังจำหน่ายผู้ป่วย

โดยย่อ ซึ่งอาจจะสรุปไว้ในส่วนใดของเวชระเบียนก็ได้..."

หลักคิดง่าย ๆ คือ ถ้าเราจะต้องมาดูคนไข้คนนี้ต่อ เราอยากรู้อะไรที่เกิดขึ้นตอน admit เพื่อตัดสินใจ หรือดูแลคนไข้ได้ต่อเนื่องได้ ก็เขียนตามนั้น
ให้เวลาและคุณค่ากับการสรุปชาร์ทสักนิดนะครับ  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/502786





12.12.55

ความลับคนไข้

โดยจริยธรรมของแพทย์ สิ่งที่แพทย์ตรวจพบจากตัวคนไข้ หรือสิ่งที่คนไข้บอกเล่าให้แพทย์ทราบ แพทย์ต้องรักษาเป็นความลับ โดยการไม่เปิดเผยต่อผู้อื่น รวมทั้งการเก็บรักษาข้อมูลของคนไข้ต่างๆ ที่บันทึกได้ในเวชระเบียน แพทย์และโรงพยาบาลต้องจัดระบบการเก็บรักษา เพื่อไม่ให้บุคคลอื่นๆ แม้แต่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล หรือญาติของคนไข้เข้าถึงข้อมูลได้ โดยมิได้รับอนุญาตจากคนไข้ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่องสุขภาพและความลับต่างๆ ของคนไข้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาลเท่านั้น

บันทึกเวชระเบียน
บันทึกเวชระเบียนคือบันทึกที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์บันทึกประวัติส่วนตัว ประวัติครอบครัว ประวัติโรคปัจจุบัน โรคประจำตัว การเจ็บป่วยที่ผ่านมา การตรวจร่างกาย การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นบันทึกสำคัญทางการแพทย์ในการรักษาพยาบาลคนไข้ การดูแลต่อเนื่อง การวางแผนการรักษาและการพยากรณ์โรค รวมทั้งเป็นข้อมูลสำคัญทางกฎหมาย (กรณีคนไข้คดีหรือมีการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญา)

บันทึกเวชระเบียนมี 2 รูปแบบ ได้แก่ บันทึกเป็นเอกสารและบันทึกเป็นข้อมูลในคอมพิวเตอร์ โรงพยาบาลต่างๆ จะมีระบบการจัดเก็บ ป้องกันมิให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย

เมื่อญาติหรือบุคคลอื่น เช่น ผู้แทนบริษัทประกันมาขอข้อมูล เพื่อใช้ประกอบในการไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่น หรือกรณีเรียกสินไหมทดแทน จะต้องได้รับอนุญาตจากคนไข้โดยมีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร แพทย์จึงจะคัดลอกข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องให้ตามความเหมาะสม

การเปิดเผยข้อมูลโดยไม่เจตนา
มีเรื่องเล่าว่า สามีพาภรรยามาคลอดลูก ได้ลูกสุขภาพดีน่ารัก มีความสุขทั้งพ่อและแม่ เรื่องน่าจะจบด้วยดี ถ้าไม่บังเอิญเกิดเรื่องเสียก่อน กล่าวคือวันที่หมอให้กลับบ้าน พยาบาลให้สามีนำเวชระเบียนไปประกอบ การคิดค่าใช้จ่ายที่ฝ่ายการเงิน ระหว่างนั่งรอ สามีอ่านเวชระเบียนพบว่าภรรยาเคยแท้งบุตรก่อนแต่งงานกับตน ชีวิตสามีภรรยาคู่นี้จบลงด้วยการแยกทางกัน

ปัจจุบันข้อมูลในส่วนที่อาจกระทบต่อชื่อเสียงของ คนไข้และญาติ เช่น เคยถูกข่มขืน เป็นโรคติดเชื้อเอดส์ โรงพยาบาลมักแยกบันทึกเวชระเบียนออกไปเก็บคนละส่วน หรือใช้รหัสแทนการระบุโรคหรือ ผลการตรวจ โรงพยาบาลหลายแห่งคนไข้และญาติ ไม่ต้องถือเวชระเบียนเองเมื่อต้องไปห้องตรวจ ห้องปฏิบัติการ ห้องยา หรือห้องการเงิน จะมีเจ้าหน้าที่นำส่งเวชระเบียนให้ บางแห่งที่ไม่สามารถจัดเจ้าหน้าที่บริการได้ครบทุกจุด มักจะนำเวชระเบียนใส่ซองมิดชิด เพื่อมีให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นข้อมูลในบันทึกเวชระเบียน

ความลับที่คนไข้ไม่ให้บอกญาติ
บางครั้งแพทย์ต้องหนักใจ เพราะคนไข้อยากปิดอาการเจ็บป่วยของตนแก่ญาติ (พ่อ แม่ หรือลูก) เช่น คนไข้โรคมะเร็ง คนไข้เป็นโรคระยะสุดท้ายที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ คนไข้ตั้งครรภ์ทารกพิการ
ในสถานการณ์เช่นนี้ แพทย์ตกที่นั่งลำบาก เพราะถ้าพูดไม่ดีก็ขัดใจคนไข้ ถ้าไม่บอกญาติไว้ก่อน เมื่อคนไข้อาการทรุดลงหรือเสียชีวิต ญาติอาจเข้าใจว่าแพทย์วินิจฉัยโรคไม่ได้แต่แรก หรือให้การรักษาพยาบาลไม่ถูกต้อง

ความลับที่ญาติไม่ให้บอกคนไข้
คนไข้หลายคนที่เป็นโรคที่เกินความสามารถให้ การรักษาให้หาย เช่น หัวใจวาย ไตวาย ตับวาย มะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น ญาติอาจไม่อยากให้บอกคนไข้ เพราะเกรงว่าคนไข้จะเสียกำลังใจและอาการทรุดลง

เป็นอีกเรื่องความลับที่แพทย์ลำบากใจ เพราะคนไข้มีสิทธิที่จะทราบภาวะการเจ็บป่วยของตนเอง

การเปิดเผยความลับเป็นความผิดทางกฎหมาย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล... ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้รับการศึกษาอบรมในวิชาชีพดังกล่าว ในวรรคแรกเปิดเผยความลับของผู้อื่น อันตนได้ล่วงรู้หรือได้มาในการศึกษาอบรมนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน ในวรรคสองรวมถึงนักศึกษาแพทย์ที่อยู่ในระหว่างการศึกษา

ความลับในที่นี้หมายถึงอาการป่วยไข้ของคนไข้ซึ่งแพทย์จะไปบอกผู้อื่นไม่ได้

กรณียกเว้น
กรณียกเว้นที่ต้องเปิดเผยข้อมูลซึ่งอาจเป็นความลับของคนไข้ ได้แก่ การรายงานโรคติดต่ออันตราย การรายงานบาดแผลของคนไข้ที่อาจเกิดจากการก่อคดีอาชญากรรม การรายงานการทำร้ายร่างกายในครอบครัว ซึ่งผลการรายงาน ผู้เกี่ยวข้องสามารถใช้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งการให้ข้อมูลตามคำสั่งศาล

หากคนไข้ปิดบังข้อมูลบางส่วน หรือไม่ยอมให้แพทย์ตรวจร่างกายโดยละเอียดตามความเหมาะสม หรือไม่ยอมให้ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการตามความจำเป็น เพราะเกรงความลับของตนเองจะถูกเปิดเผย อาจมีผลต่อการวินิจฉัยและการบำบัดรักษา 

ดังนั้นแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ จึงพึงยึดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างเคร่งครัด โรงพยาบาลควรจัดระบบในการรักษาความลับและควบคุมกำกับให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจังทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความเชื่อถือให้เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพการรักษาพยาบาล และสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในวงการแพทย์
http://www.doctor.or.th/article/detail/7523


11.12.55

ระบบเวชระเบียนแห่งชาติ

เวชระเบียน เป็นเอกสารสำคัญในขบวนการรักษาพยาบาล เป็นเอกสารที่แสดงประวัติคนไข้ทั้งประวัติส่วนตัวและประวัติการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล การแพ้ยา ครอบคลุมในทุกด้าน กฏหมายบังคับให้สถานพยาบาลไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน ตั้งแต่ระดับคลีนิก สถานีอนามัย โรงพยาบาลต้องจัดทำเวชระเบียนผู้ป่วย เวชระเบียนจึงเป็นเสมือนหนึ่งสมุดจดบันทึกด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญในการตรวจค้นข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น ประวัติการไม่สบาย โรคประจำตัวโรคทางพันธุกรรม ประวัติการรับประทานยา การแพ้ยา ประวัติการคลอด ฯลฯ

การจัดการเวชระเบียน (หรือ O.P.D.card)
          ตามระบบของโรงพยาบาลมักใช้วิธีเก็บไว้ในชั้นวางเรียงตามลำดับตัวเลขผู้ป่วยนอก(Hospital number) เวลาค้นหาก็เพียงแต่ดูตัวเลขผู้ป่วยนอก จากบัตรประจำตัวคนไข้แล้วไปค้นหาเอาในชั้นวาง สมัยก่อนมีปัญหามากเวลาคนไข้ทำบัตรหายจะไม่สามารถค้นเวชระเบียนได้ ต้องออกเวชระเบียนกันใหม่ คนไข้บางคนมีบัตรประจำตัวคนไข้ตั้ง4-5ใบ เวลาไปโรงพยาบาลก็หยิบๆไปตามแต่จะเจอ บันทึกในเวชระเบียนก็ไม่ต่อเนื่อง บางครั้งหมอบันทึกประวัติแพ้ยาไว้ในใบหนึ่ง แต่ใบที่สั่งตรวจรักษาไม่มี ก็อาจพลาดไปจ่ายยาที่แพ้เข้าให้ก็เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมา สมัยต่อมาสะดวกขึ้นมากเพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่หันมาใช้การค้นเวชระเบียนจากคอมพิวเตอร์ คนไข้อาจไม่จำเป็นต้องพกบัตรมาก็สามารถหาเจอ แค่คีย์ชื่อ สกุลก็จะหาเลขบัตรได้ไม่ยากเลข ลดปัญหาเวชระเบียนซ้ำซ้อนไปมาก แต่ก็ยังต้องใช้เป็นเวชระเบียนแบบกระดาษอยู่ ตามปกติเวชระเบียนเขาจะใช้งานอยู่ประมาณ 5 ปี พอครบ 5 ปีก็จะทำลาย บางโรงพยาบาลก็แยกไปเก็บอีกห้องเผื่อค้นอีก 5 ปี พอครบ 5 ปีก็ค่อยเผาทำลายเช่นกัน
       แบบฟอร์มของเวชระเบียน ไม่มีแบบฟอร์มที่แน่นอนตายตัว แต่กระทรวงสาธารณสุขก็มีแบบฟอร์มกลาง ส่วนโรงพยาบาลไหนจะใช้ก็ได้หรือออกแบบเองก็ได้ไม่ได้บังคับ เพียงแต่มีช่องลงข้อมูลสำคัญให้ครบตามที่กฏหมายกำหนดก็พอ ทำให้เวชระเบียนของไทยมีมากมายหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะโรงาพยาบาลเอกชนทั้งหลายก็มีรูปแบบของตนเองบางแห่งก็มีแบบภาษาต่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกกับชาวต่างประเทศซึ่งทำประกันกับบริษัทประกันต่างประเทศซึ่งอาจต้องขอสำเนาประกอบการเบิกค่ารักษาก็มี 
      ปัจจุบันเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่ IT อย่างมากมาย หลายโรงพยาบาลจึงหันมาจดบันทึกเวชระเบียนโดยใช้ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ คือ
         1. สามารถค้นหาเวชระเบียนคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว
         2. เวชระเบียนคนไข้มีเพียงใบเดียวไม่ต้องทำซ้ำ
         3. สามารถส่งเวชระเบียนไปยังห้องต่างๆได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องใช้คนเดิน
         4. คนไข้ไม่จำเป็นต้องพกพาบัตรประจำตัวคนไข้
         5. สามารถเก็บเวชระเบียนไว้ได้ตลอดไปไม่ต้องทำลายทำให้ดูประวัติการรักษาย้อนหลัง ไปได้นาน
          6. ลดความสิ้นเปลืองกระดาษ ปากกา
          7. แพทย์สามารถสั่งการรักษาได้ชัดเจน
          8. เภสัชกรจ่ายยาถูกต้องตามการรักษาเนื่องจากชื่อยา ขนาดยาชัดเจนไม่ต้องสับสนตามลายมือแพทย์
       อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโปรแกรมเวชระเบียนก็ยังมีสภาพเป็นแบบต่างคนต่างทำ โรงพยาบาลต่างๆก็ใช้โปรแกรมแตกต่างกันออกไป บางโรงพยาบาลก็ใช้นักโปรแกรมของโรงพยาบาลออกแบบกันเอง บางโรงพยาบาลก็ซื้อแบบสำเร็จรูปมาใช้โดยมีนักโปรแกรมของผู้ขายดูแลให้ นอกจากนี้ระบบต่างๆของโรงพยาบาลก็เป็นแบบ Intranetภายใน ไม่สามารถเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลอื่นๆได้ ทำให้ข้อมูลในเวชระเบียนยังไม่สามารถมีประโยชน์ต่อคนไข้อย่างเต็มที่เนื่องจากคนไข้อาจมีความเจ็บป่วยขณะเดินทางไปอีกที่หนึ่ง การดูประวัติจากเวชระเบียนในโรงพยาบาลเก่าก็ไม่สามารถเรียกดูได้
        ผู้เขียนเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องมีการปฏิวัติระบบเวชระเบียนเสียใหม่ โดยต้องจัดทำระบบโปรแกรมเวชระเบียนแห่งชาติโดยจัดทำเป็นโปรแกรมกลางพื่อให้โรงพยาบาลในประเทศใช้เก็บข้อมูลแบบออนไลน์เป็นข้อมูลกลาง เหมือนระบบของธนาคาร โดยเริ่มจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขก่อน เป็นการทำโปรมแกรมเพื่อแจกฟรีให้โรงพยาบาลต่างๆสามารถนำไปใช้ได้เลย ส่วนโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชนและสถานพยาบาลอื่นๆเช่นคลีนิกหากสนใจที่จะเชื่อมต่อข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุขก็สามารถขอนำไปติดตั้งได้ ทั้งนี้เลขผู้ป่วยนอกต้องเปลี่ยนใหม่อาจใช้เลขเดียวกับเลขประจำตัวประชาชนก็น่าจะเข้าท่าดี
        ข้อดีของการเชื่อมต่อข้อมูลเวชระเบียน หากสามารถทำได้มีเอนกอนันต์ เพราะนอกจากข้อดีต่างๆดังได้กล่าวมาแล้ว ยังทำให้คนไข้สามารถไปรักษาต่อเนื่องที่ใดก็ได้เพราะโรงพยาบาลสามารถค้นข้อมูลการรักษาได้โดยง่ายไม่ต้องย้อนกลับมาขอประวัติจากที่เดิมอีก   
        แต่ก็ยังมีข้อคิดต่อไปเรื่องการป้องกันความลับของคนไข้ และการเชื่อมต่อกับระบบประกันสุขภาพของประเทศ ซึ่งต้องคิดกันต่อไป
         ผู้เขียนหวังว่าข้อเสนอแนะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการสาธารณสุขของประเทศบ้างหากผู้บริหารตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

นายแพทย์ ชัยวงศ์ ชวนะรักษ์




11.12.55