"วิสัยทัศน์" เป็นหน่วยงานเวชระเบียนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์ความรู้ด้านบริการและวิชาการที่ได้มาตรฐาน

เวชระเบียนหายใครรับผิดชอบ

ราชการแนวหน้า : เวชระเบียนหายใครรับผิดชอบ

วันอาทิตย์ ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 06.00 น.

1.เวลาเราเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บในโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอกก็ตาม จะต้องมีเวชระเบียน(ประวัติคนไข้) ที่มีการบันทึกการรักษาพยาบาลไว้ ซึ่งผู้ป่วยสามารถร้องขอสำเนาประวัติดังกล่าวของตนได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลฯ (Privacy Act)

2.เรื่องที่จะนำมาบอกเล่าสู่กันฟังครั้งนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยโรคภูมิแพ้ที่โรงพยาบาล ศ.ในสังกัดของมหาวิทยาลัย ม. และได้รับการรักษาต่อเนื่องมา จนกระทั่งผู้ป่วยเกิดมีอาการชักหมดสติ จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลศ. และได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด หลังการผ่าตัดปรากฏว่าผู้ป่วยเป็นอัมพาตที่ขาสองข้างและควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ผู้ป่วยจึงต้องการสอบถามสาเหตุของอาการดังกล่าวพร้อมชื่อของแพทย์ที่ทำการรักษา แต่ก็ไม่ได้คำตอบและยังคงอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลดังกล่าวตลอดมาระหว่างนั้นผู้ป่วยได้มอบให้ทนายความติดต่อสอบถามขอเวชระเบียนจากทางโรงพยาบาล แต่ก็ไม่ได้รับและทางโรงพยาบาล ศ.ไปแจ้งสถานีตำรวจว่าเอกสารเวชระเบียนสูญหาย (โดยเฉพาะเอกสารการรักษาโดยการผ่าตัด) คงได้รับแต่เอกสารการรักษาทั่วไป ผู้ป่วยจึงได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเกี่ยวกับกรณีนี้


3.ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้ โดยความสรุปว่า เมื่อคดีนี้โรงพยาบาลศ. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองและมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลเวชระเบียนของผู้ป่วยในของโรงพยาบาล ไม่สามารถเปิดเผยเวชระเบียนตามคำร้องขอของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ป่วยในได้ ซึ่งคำขอของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิของผู้ฟ้องคดีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อเวชระเบียนดังกล่าวสูญหายไปจากการครอบครองของโรงพยาบาลจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของผู้ฟ้องคดีอันเนื่องมาจากโรงพยาบาลศ.ปล่อยปละละเลยเป็นเหตุให้เวชระเบียนผู้ป่วยในของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวทั้งสองฉบับพ้นไปจากการครอบครอง ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.587/2562)

4.เมื่อได้อ่านคำพิพากษาของฉบับนี้แล้วหวังว่า ผู้บริหารของหน่วยงานของรัฐที่ต้องดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคลคงจะต้องวางมาตรการควบคุมดูแลเก็บรักษาข้อมูลนั้นอย่างระมัดระวังและตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะการนำไปใช้ในส่วนราชการด้วยกันเอง ตลอดจนการเก็บรักษาด้วยระบบดิจิทัลด้วย อย่าลืม ระมัดระวังระบบข้อมูลสำรองด้วยนะ


https://www.naewna.com/politic/615530





31.12.64