"วิสัยทัศน์" เป็นหน่วยงานเวชระเบียนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์ความรู้ด้านบริการและวิชาการที่ได้มาตรฐาน

เวชระเบียน หัวใจโรงพยาบาล ผู้อาภัพ

นับเป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่งที่ได้มีโอกาสกล่าวถึง เวชระเบียน หน่วยงานเวชระเบียน ที่ถูกกล่าวว่านี่คือหัวใจของสถานบริการสาธารณสุข แต่ที่ผ่านมาเวชระเบียน ถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นขั้นตอนหนึ่งในการจำแนกและการเอาไว้บันทึกรายการที่แพทย์ตรวจเท่านั้น จึงทำพอเป็นพิธี ในขณะที่เวชระเบียนนั้น อย่างที่ข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้แล้วหลายครั้งว่า เวชระเบียน(Medical Record) ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ในความควบคุมของ เจ้าหน้าที่เวชระเบียน (Medical Record Librarian) ซึ่งจะต้องเป็นแพทย์หรือผู้ที่มีคุณวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับแพทย์ที่ผ่านการลงทะเบียน ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านการแพทย์และเข้ารับการศึกษาทางด้านเวชระเบียนจนสามารถได้รับการลงทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่เวชระเบียน ในทางการแพทย์จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทางด้านนี้มีความสำคัญมากในสถานบริการทางการแพทย์ การจัดให้มีการศึกษาทางด้านเวชระเบียนในประเทศไทยก็มีประวัติมายาวนานหลายสิบปี โดยแพทย์หญิงสมพร เอกรัตน์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลศิริราชพยาบาล ผู้ได้รับการลงทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่เวชระเบียน (Registration : Medical Record Librarian) ได้จัดให้มีการศึกษาทางด้านเวชระเบียนขึ้นโดยเฉพาะเพื่อให้มีบุคลากรทางด้านเวชระเบียน ไปประจำอยู่ในสถานบริการสาธารณสุขต่าง ๆ ในประเทศไทย และมีการจัดการเวชระเบียนอย่างมีระบบ เพราะระบบเวชระเบียน (Medical Record System) เป็นระบบใหญ่ที่ต้องวางรากฐานให้สมบูรณ์เป็นอันดับแรกในการจัดการของสถานบริการสาธารณสุข หลังจากที่มีการจัดการเรื่องอาคารสถานที่ในการรักษาพยาบาลและบุคลากรเรียกร้อยแล้ว ในระบบของเวชระเบียนนั้นแบ่งออกเป็นระบบย่อย ๆ ดังนี้
1. ระบบเวชระเบียน และการไหลเวียนเอกสารทางการแพทย์
2. ระบบเวชสถิติ
3.ระบบการศึกษาวิจัยทางการแพทย์
4.ระบบเวชสารสนเทศและคอมพิวเตอร์
5.ระบบเครือข่ายและการเชื่อมโยงข้อมูล
ซึ่งระบบย่อยเหล่านี้อาจมีการแยกไม่เหมือนกันในแต่ละสถานบริการแล้วแต่ความเหมาะสม หรืออาจแบ่งเป็นผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในของแต่ละระบบเป็นระบบย่อยไปอีกก็แล้วแต่ความเหมาะสม เวชระเบียนที่เป็นระบบย่อยเหล่านี้รวมกัน เป็นระบบเวชระเบียน ซึ่งถือเป็นหัวใจของสถานบริการสาธารณสุข เพราะสถานบริการสาธารณสุขจะมีประสิทธิภาพแค่ไหนในการรักษาและดูแลผู้ป่วยก็สามารถดูจากระบบเวชระเบียนได้ทั้งหมด กระบวนการรรักษาพยาบาลจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนก็ดูได้จากระบบเวชระเบียนนั่นเอง  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/20521
ก็มาถึงตอนที่ 2 ของการกล่าวถึง เวชระเบียน ชื่อฟังดูแล้วอาจเข้าใจง่าย ๆ ว่า "เอกสารต่าง ๆ ทางการแพทย์" ถ้าแปลตามตัวหนังสือ แต่เวชระเบียนอย่างที่กล่าวมาในตอนที่ 1 ว่า มีอะไรมากกว่าเรื่องของการจัดการเอกสารทางการแพทย์มาก เพราะเป็นหน่วยงานสำคัญที่สามารถจะดูได้ว่าสถานบริการสาธารณสุข นั้น ๆ มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เพราะการดูจากเวชระเบียนนั้นเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สุด ในการที่จะวัดผลของการให้การบริการ การรักษาพยาบาล การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ผลการรักษาของผู้ป่วย เวลาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วย การวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำขนาดไหน นอกจากนี้ยังรวมถึงการสั่งการ การสื่อสาร การปรึกษาหารือกันต่าง ๆ ของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล และการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า เวชระเบียน ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ คือ -ระเบียนทางการแพทย์ -สถิติ -วิจัยทางการแพทย์ -เวชสารสนเทศ และ -คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์  การจะวัดประสิทธิภาพของสถานบริการสาธารณสุขต่าง ๆ จึงสามารถดูได้จากส่วนต่าง ๆ ของงานทางด้านเวชระเบียน ที่เดียวจบ ไม่ต้องดูอย่างอื่นให้วุ่นวายก็ทราบทันทีว่า สถานบริการสาธารณสุขเหล่านั้นให้การบริการเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
           การเห็นคุณค่าของเวชระเบียนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด ในการพัฒนาการให้บริการสาธารณสุข เพราะถ้าเวชระเบียนถูกพัฒนาไปทุก ๆ ส่วนตามที่กล่าวมา ก็สามารถพัฒนาประสิทธิภาพของโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขไปโดยอัตโนมัติ แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาองกรค์ทางเวชระเบียนมีไปตามมีตามเกิดเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะอาจมีหลายฝ่ายที่มองเห็นว่า เวชระเบียนเป็นงานประจำของห้องบัตรที่มีการทำเป็นปกติทุกสถานบริการสาธารณสุขอยู่แล้ว การพัฒนาส่วนอื่น ๆ ก็แยกกันทำไม่ได้ทำอย่างเป็นกิจลักษณะ ทำให้กระบวนการการพัฒนางานด้านเวชระเบียนก็ไม่ได้มีการพัฒนาไปอย่างที่ควรจะเป็น เหตุผลหลัก ๆ ก็อาจเป็นไปได้ว่าสถานบริการสาธารณสุขทีมีขนาดเล็กมาก ๆ เช่นคลินิค หรือร้านหมอโดยทั่ว ๆ ไป เวชระเบียนอาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับความคิดของแพทย์ เนื่องจากทุกอย่างจัดการอยู่ที่แพทย์คนเดียว บุคลากรที่จะมาจัดการทางเวชระเบียนนั้น อาจเป็นลูกจ้างร้านหมอที่ทำหน้าที่ทุกอย่าง รวมถึงเวชระเบียนด้วย การมองเห็นคุณค่าของงานเวชระเบียนจึงอาจน้อยมาก และสำหรับสถานบริการสาธารณสุขที่มีการเห็นว่า เวชระเบียนคืองานทำบัตร-นัดผู้ป่วย-ช่วยบันทึกและจัดเก็บค้นหา ก็คงไม่มีความสำคัญมากนักเพราะอาจให้ผู้ช่วยพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ไม่มีที่ลงมาดูแล และทำงานร่วมกับลูกจ้างของสถานบริการสาธารณสุข และงานที่คนอื่นมองเห็นก็มีเพียงเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงต้องยอมรับว่า งานเวชระเบียนที่เข้าใจแบบนั้นคงไม่มีความหมายมากนัก แต่ถ้าให้ความสำคัญกับงานเวชระเบียน และมีการพัฒนาไปทุก ๆ ส่วนของงานเวชระเบียน ก็จะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และเป็นหัวใจของสถานบริการสาธารณสุขอย่างแท้จริง ยังมีต่อในตอนต่อไปอย่าลืมติดตาม.....http://www.gotoknow.org/blogs/posts/29919
ห่างหายไปนานกว่าจะมีตอนที่ 3 แต่ก็ต้องมีจนใด้ เนื่องจากหัวใจของข้าพเจ้า อยู่กับเวชระเบียนเสมอ และข้าพเจ้าก็ภูมิใจกับคำว่าเวชระเบียนมาก ๆ ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังจะเขียนข้อความนี้ ข้าพเจ้ากำลังเพ่งมองไปยังรูปของอาจารย์หมอของชาวเวชทุกคนคือ อาจารย์แพทย์หญิงสมพร เอกรัตน์ ด้วยความอาลัยยิ่งกับอาจารย์หมอด้านเวชระเบียนผู้ให้กำเนิด เวชระเบียนของประเทศไทย
 
     มองไปก็ยิ่งทำให้น้ำตาซึมออกมาด้วยความคิดถึง และหวนรำลึกถึงบรรยากาศในห้องเรียนที่มีอาจารย์หมอสอนวิชาเวชระเบียน ด้วยความรักและเอาจริงเอาจังกับงานด้านเวชระเบียนเสมอ บรรยากาศห้องเรียนเวชระเบียน บนชั้นสามอาคารทรงไทยริมเจ้าพระยาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขของการเรียนวิชาเวชระเบียน ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าอยากจะร้องออกมาในเวลานี้ให้ใด้
    เวชระเบียนในความหมายของ อาจารย์แพทย์หญิงสมพร เอกรัตน์ ยิ่งใหญ่เสมอ และยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าต้องเขียนถึงเวชระเบียนอยู่เสมอ เพราะแม้ว่าขณะนี้ข้าพเจ้าออยู่ในแวดวงของงานวิจัยที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการด้านสาธารณสุขน้อยมาก แต่ก็ยังไม่ลืมงานทางด้านนี้ ที่อาจารย์หมอสมพรกล่าวย้ำเสมอว่า เวชระเบียนคือหัวใจของโรงพยาบาล ประโยคนี้ยังก้องอยู่ในหูของข้าพเจ้าเสมอ และดีใจมากที่เห็นอาจารย์อ้อย ที่ดูแลภาควิชาเวชระเบียนของวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขกาญจนาภิเษก นำบทความเวชระเบียนคือหัวใจของโรงพยาบาลที่ข้าพเจ้าเคยบันทึกไว้ไปเป็นหัวข้อเกี่ยวกับองค์กร รวมถึงมีอีกหลายเว็บที่ลิงค์เข้าไปโพสท์ไว้ ก็ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ามีกำลังใจที่จะกล่าวถึงเวชระเบียนมากขึ้น
       ดังที่กล่าวไว้ในสองตอนที่แล้วว่าเวชระเบียนครอบคลุมงานหลายด้านมากทีเดียว แต่ตำแหน่งปัจจุบันของคนที่ทำงานด้านเวชระเบียนก็พัฒนาไปได้ไม่มากนัก ทุกครั้งที่เจอกับคนที่ทำงานด้านเวชระเบียนก็ได้ยินจนเต็มสองหูเรื่องความน้อยเนื้อต่ำใจเรื่องตำแหน่งและระดับของบุคลากรทางด้านเวชระเบียนเสมอ โผล่หน้าเข้าไปที่พัทลุงก็บอกเงินเดือนตันไปแล้วสองปี ระดับก็ติดอยู่แค่5 ที่อื่น ๆ อีกหลายที่ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ก็กลับออกมาด้วยความหดหู่เสมอ นอกจากนี้คำถามสุดฮิตที่ถูกถามกับข้าพเจ้าเสมอก็คือ ..เรียนต่อเวชระเบียนแล้วทำไมตำแหน่งไม่ก้าวหน้าเลย... จะเรียนต่อเวชระเบียนไปทำไม... จนข้าพเจ้าตะกุกตะกักที่จะตอบไปเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับงานที่เป็นหัวใจของโรงพยาบาลอย่าง เวชระเบียน ข้าพเจ้าให้กำลังใจทุกคนที่ทำงานด้านเวชระเบียนทุกคนว่างานของพวกเราสำคัญมาก ทุกคนก็จะถามออกมาในทำนองเดียวกันว่า สำคัญแล้วทำไมพวกเราก้าวหน้ากันแค่นี้ ทำให้ข้าพเจ้าต้องนิ่งไปเสมอ แต่อาจจะเป็นเพราะข้าพเจ้าไม่เคยคิดอย่างนี้มั้งเลยตอบคำถามไปไม่ค่อยถูก ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าทำหน้าที่เวชระเบียน ก็มีความรู้สึกว่างานของเรากว้างกว่างานอื่น ๆ ในสถานประกอบการด้านสาธารณสุข ไม่เคยคิดถึงตำแหน่งและระดับอะไรทั้งสิ้น ก้มหน้าก้มตาขยายงานออกไปอย่างเดียว อยากเรียนต่อทางเวชระเบียนอยู่ทุกวัน เฝ้ารอคอยอยู่ทุกวันที่ทำงานด้านเวชระเบียนอยู่ เมื่อมีโอกาสได้เรียนข้าพเจ้าก็กระโดดไปเป็นกลุ่มแรกทันทีในการเรียนต่อทางด้านเวชระเบียน และก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลยแม้แต่น้อย มหิดลคือสุดยอดแห่งมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์ของไทย เวชระเบียนโดยอาจารย์หมอสมพร เอกรัตน์ อาจารย์ดลชาติ ตันติวานิช และศาสตราจารย์บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ ก็ได้เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้อย่างน่าภาคภูมิใจ นำไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ปริญญาเอกได้โดยไม่ต้องอายใคร สำหรับข้าพเจ้าก็โอเคนะ แต่เมื่อมาย้อนดูพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่ยังโยนคำถามใส่ข้าพเจ้าเสมอเมื่อเจอกันดังคำถามที่เอ่ยมาข้างต้น ก็คงต้องบอกว่า นี่แหละคือ เวชระเบียน หัวใจโรงพยาบาลผู้อาภัพ...อย่างแท้จริง ยิ่งในปัจจุบัน งานด้านเวชสารสนเทศ งานด้านการสือสารข้อมูล และงานวิจัยทางการแพทย์ก็ถูกพัฒนาขึ้นโดยคนอื่นที่ไม่ใช่เวชระเบียนก็ยิ่งทำให้งานเล็กลงเรื่อย ๆ เพราะงานเหล่านั้นก็เป็นเอกเทศ และบางที่ดูจะยิ่งใหญ่กว่างานเวชระเบียนเสียด้วยซ้ำ ก็ยิ่งเป็นห่วงเวชระเบียนมากขึ้น ในการก้าวไปของเวชระเบียน ที่จะต้องดูแลเวชสารสนเทศ การสื่อสารข้อมูลทางการแพทย์ และวิจัยทางการแพทย์ด้วย ตามหลักการเดิมที่อาจารย์แพทย์หญิงสมพร เอกรัตน์ได้เคยกล่าวถึงเสมอ ๆ ก็ยิ่งทำให้หัวใจทางการแพทย์ดวงนี้กำลังเป็นหัวใจตีบตัน และอาจลุกลามเป็นหัวใจล้มเหลวในที่สุด
    เจอกันในตอนต่อไปนะครับ
อาจารย์แสงเทียน  อยู่เถา : สำนักวิจัย นครศรีธรรมราช http://www.gotoknow.org/blogs/posts/124775