"วิสัยทัศน์" เป็นหน่วยงานเวชระเบียนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์ความรู้ด้านบริการและวิชาการที่ได้มาตรฐาน

ระบบเวชระเบียนแห่งชาติ

เวชระเบียน เป็นเอกสารสำคัญในขบวนการรักษาพยาบาล เป็นเอกสารที่แสดงประวัติคนไข้ทั้งประวัติส่วนตัวและประวัติการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล การแพ้ยา ครอบคลุมในทุกด้าน กฏหมายบังคับให้สถานพยาบาลไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน ตั้งแต่ระดับคลีนิก สถานีอนามัย โรงพยาบาลต้องจัดทำเวชระเบียนผู้ป่วย เวชระเบียนจึงเป็นเสมือนหนึ่งสมุดจดบันทึกด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญในการตรวจค้นข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น ประวัติการไม่สบาย โรคประจำตัวโรคทางพันธุกรรม ประวัติการรับประทานยา การแพ้ยา ประวัติการคลอด ฯลฯ

การจัดการเวชระเบียน (หรือ O.P.D.card)
          ตามระบบของโรงพยาบาลมักใช้วิธีเก็บไว้ในชั้นวางเรียงตามลำดับตัวเลขผู้ป่วยนอก(Hospital number) เวลาค้นหาก็เพียงแต่ดูตัวเลขผู้ป่วยนอก จากบัตรประจำตัวคนไข้แล้วไปค้นหาเอาในชั้นวาง สมัยก่อนมีปัญหามากเวลาคนไข้ทำบัตรหายจะไม่สามารถค้นเวชระเบียนได้ ต้องออกเวชระเบียนกันใหม่ คนไข้บางคนมีบัตรประจำตัวคนไข้ตั้ง4-5ใบ เวลาไปโรงพยาบาลก็หยิบๆไปตามแต่จะเจอ บันทึกในเวชระเบียนก็ไม่ต่อเนื่อง บางครั้งหมอบันทึกประวัติแพ้ยาไว้ในใบหนึ่ง แต่ใบที่สั่งตรวจรักษาไม่มี ก็อาจพลาดไปจ่ายยาที่แพ้เข้าให้ก็เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมา สมัยต่อมาสะดวกขึ้นมากเพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่หันมาใช้การค้นเวชระเบียนจากคอมพิวเตอร์ คนไข้อาจไม่จำเป็นต้องพกบัตรมาก็สามารถหาเจอ แค่คีย์ชื่อ สกุลก็จะหาเลขบัตรได้ไม่ยากเลข ลดปัญหาเวชระเบียนซ้ำซ้อนไปมาก แต่ก็ยังต้องใช้เป็นเวชระเบียนแบบกระดาษอยู่ ตามปกติเวชระเบียนเขาจะใช้งานอยู่ประมาณ 5 ปี พอครบ 5 ปีก็จะทำลาย บางโรงพยาบาลก็แยกไปเก็บอีกห้องเผื่อค้นอีก 5 ปี พอครบ 5 ปีก็ค่อยเผาทำลายเช่นกัน
       แบบฟอร์มของเวชระเบียน ไม่มีแบบฟอร์มที่แน่นอนตายตัว แต่กระทรวงสาธารณสุขก็มีแบบฟอร์มกลาง ส่วนโรงพยาบาลไหนจะใช้ก็ได้หรือออกแบบเองก็ได้ไม่ได้บังคับ เพียงแต่มีช่องลงข้อมูลสำคัญให้ครบตามที่กฏหมายกำหนดก็พอ ทำให้เวชระเบียนของไทยมีมากมายหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะโรงาพยาบาลเอกชนทั้งหลายก็มีรูปแบบของตนเองบางแห่งก็มีแบบภาษาต่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกกับชาวต่างประเทศซึ่งทำประกันกับบริษัทประกันต่างประเทศซึ่งอาจต้องขอสำเนาประกอบการเบิกค่ารักษาก็มี 
      ปัจจุบันเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่ IT อย่างมากมาย หลายโรงพยาบาลจึงหันมาจดบันทึกเวชระเบียนโดยใช้ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ คือ
         1. สามารถค้นหาเวชระเบียนคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว
         2. เวชระเบียนคนไข้มีเพียงใบเดียวไม่ต้องทำซ้ำ
         3. สามารถส่งเวชระเบียนไปยังห้องต่างๆได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องใช้คนเดิน
         4. คนไข้ไม่จำเป็นต้องพกพาบัตรประจำตัวคนไข้
         5. สามารถเก็บเวชระเบียนไว้ได้ตลอดไปไม่ต้องทำลายทำให้ดูประวัติการรักษาย้อนหลัง ไปได้นาน
          6. ลดความสิ้นเปลืองกระดาษ ปากกา
          7. แพทย์สามารถสั่งการรักษาได้ชัดเจน
          8. เภสัชกรจ่ายยาถูกต้องตามการรักษาเนื่องจากชื่อยา ขนาดยาชัดเจนไม่ต้องสับสนตามลายมือแพทย์
       อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโปรแกรมเวชระเบียนก็ยังมีสภาพเป็นแบบต่างคนต่างทำ โรงพยาบาลต่างๆก็ใช้โปรแกรมแตกต่างกันออกไป บางโรงพยาบาลก็ใช้นักโปรแกรมของโรงพยาบาลออกแบบกันเอง บางโรงพยาบาลก็ซื้อแบบสำเร็จรูปมาใช้โดยมีนักโปรแกรมของผู้ขายดูแลให้ นอกจากนี้ระบบต่างๆของโรงพยาบาลก็เป็นแบบ Intranetภายใน ไม่สามารถเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลอื่นๆได้ ทำให้ข้อมูลในเวชระเบียนยังไม่สามารถมีประโยชน์ต่อคนไข้อย่างเต็มที่เนื่องจากคนไข้อาจมีความเจ็บป่วยขณะเดินทางไปอีกที่หนึ่ง การดูประวัติจากเวชระเบียนในโรงพยาบาลเก่าก็ไม่สามารถเรียกดูได้
        ผู้เขียนเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องมีการปฏิวัติระบบเวชระเบียนเสียใหม่ โดยต้องจัดทำระบบโปรแกรมเวชระเบียนแห่งชาติโดยจัดทำเป็นโปรแกรมกลางพื่อให้โรงพยาบาลในประเทศใช้เก็บข้อมูลแบบออนไลน์เป็นข้อมูลกลาง เหมือนระบบของธนาคาร โดยเริ่มจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขก่อน เป็นการทำโปรมแกรมเพื่อแจกฟรีให้โรงพยาบาลต่างๆสามารถนำไปใช้ได้เลย ส่วนโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชนและสถานพยาบาลอื่นๆเช่นคลีนิกหากสนใจที่จะเชื่อมต่อข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุขก็สามารถขอนำไปติดตั้งได้ ทั้งนี้เลขผู้ป่วยนอกต้องเปลี่ยนใหม่อาจใช้เลขเดียวกับเลขประจำตัวประชาชนก็น่าจะเข้าท่าดี
        ข้อดีของการเชื่อมต่อข้อมูลเวชระเบียน หากสามารถทำได้มีเอนกอนันต์ เพราะนอกจากข้อดีต่างๆดังได้กล่าวมาแล้ว ยังทำให้คนไข้สามารถไปรักษาต่อเนื่องที่ใดก็ได้เพราะโรงพยาบาลสามารถค้นข้อมูลการรักษาได้โดยง่ายไม่ต้องย้อนกลับมาขอประวัติจากที่เดิมอีก   
        แต่ก็ยังมีข้อคิดต่อไปเรื่องการป้องกันความลับของคนไข้ และการเชื่อมต่อกับระบบประกันสุขภาพของประเทศ ซึ่งต้องคิดกันต่อไป
         ผู้เขียนหวังว่าข้อเสนอแนะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการสาธารณสุขของประเทศบ้างหากผู้บริหารตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

นายแพทย์ ชัยวงศ์ ชวนะรักษ์




11.12.55