โดยทั่วไป “ห้องพิเศษ” ในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ จะมีอาจารย์แพทย์เจ้าของไข้และแพทย์ประจำบ้านในหอผู้ป่วยพิเศษนั้นเข้าไปดูแลผู้ป่วย จะไม่มีอาจารย์แพทย์อื่นหรือแพทย์ประจำบ้านอื่นๆ หรือแพทย์ฝึกหัดหรือนักศึกษาแพทย์เข้าไปดูแลผู้ป่วยด้วยเลย และพยาบาลในหอก็จะเข้าไปดูผู้ป่วยน้อยมาก นอกจากจะจ้าง “พยาบาลพิเศษ” เฝ้าผู้ป่วยอยู่ในห้องโดยเฉพาะ จึงต้องมีญาติ 1 คนอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลาถ้าไม่มี “พยาบาลพิเศษ” เพราะถ้าผู้ป่วยจะเข้าห้องน้ำ หรือหกล้ม หรือเป็นลมหมดสติไป แพทย์และพยาบาลที่อยู่นอกห้องจะไม่ทราบเลย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเป็นส่วนตัวมากที่สุด จึงไม่ค่อยมีแพทย์-พยาบาลเข้าไปดูผู้ป่วยบ่อยๆ นอกจากในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เช่น ผู้ป่วยอาการหนักซึ่งในกรณีเช่นนั้น มักจะต้องจ้าง “พยาบาลพิเศษ” ให้มาช่วยเฝ้าผู้ป่วย เนื่องจาก “หอผู้ป่วยพิเศษ” จะมีแพทย์และพยาบาลน้อยมาก ผิดกับ “หอผู้ป่วยธรรมดา” ที่รับผู้ป่วยนอนรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีแพทย์และพยาบาลจำนวนมาก รวมทั้งอาจารย์แพทย์ อาจารย์พยาบาล ที่ต้องหมุนเวียนเข้าไปสอนแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ฝึกหัด นักศึกษาแพทย์ และนักศึกษาพยาบาล โดยผู้ป่วยแต่ละคนเปรียบเสมือน “อาจารย์” ให้แพทย์และพยาบาลได้ศึกษาและฝึกหัดการรักษาพยาบาลภายใต้การควบคุมของอาจารย์ (ซึ่งผู้ป่วยพิเศษจะไม่ได้รับโอกาสนี้) ผู้ป่วยแต่ละคนจึงมีคนไปตรวจและไปดูแลเกือบตลอดเวลา อีกทั้งผู้ป่วยที่นอนอยู่เตียงข้างกันหรือใกล้กันก็จะช่วยดูและบ่อยครั้งก็จะคุยปรับทุกข์กัน ทำให้คลายเหงาและระบายความทุกข์ไปได้บ้าง เมื่อต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลหลายวัน แต่ในผู้ป่วยบางคนไม่ยอมให้นักศึกษา หรือแพทย์ฝึกหัด/แพทย์ประจำบ้าน ตรวจรักษาตน ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่ควรเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ เพราะในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ อาจารย์แพทย์จะมีเวลามาตรวจรักษาผู้ป่วยโดยตรงตลอดเวลาน้อยมาก และจะเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยมากกว่าการยอมให้นักศึกษาแพทย์และแพทย์ฝึกหัด แพทย์ประจำบ้านได้ดูแลผู้ป่วย การอยู่ใน “หอผู้ป่วยธรรมดา” จึงมักจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการหนักมากกว่าใน “หอผู้ป่วยพิเศษ” หรือใน “ห้องพิเศษ” ดังตัวอย่างกรณีผู้ป่วยรายนี้ที่เข้าไปอยู่ในห้องพิเศษ แล้วไม่มีแพทย์สนใจเข้าไปดูแลอย่างเพียงพอ : นพ.สันต์ หัตถึรัตน์http://www.elib-online.com/doctors50/med_patent100.html