กรณีอุบัติเหตุจากรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
ผู้ประสบภัยจากรถ หมายถึง ผู้ขับขี่รถ ผู้โดยสาร ผู้ซึ่งอยู่ในหรือบนหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถ หรือขณะกำลังขึ้น-ลงจากรถ และผู้ใช้ถนนหรือแม้แต่คนที่กำลังนอนอยู่ในบ้าน ผู้ที่ได้รับความเสียหายเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัยอันเนื่องมาจากรถ ได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้น โดยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียหายเบื้องต้น ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ไม่รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน
รถประเภทใดที่ต้องทำประกันภัยพ.ร.บ.
รถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.ได้แก่รถทุกชนิดทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร ที่เจ้าของมีไว้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ไม่ว่ารถดังกล่าวจะเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้าหรือพลังงานอื่น เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก หัวรถลากจูง รถพ่วง รถบดถนน รถอีแต๋น ฯลฯ ดังนั้นการที่มีรถบางประเภทกรมการขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียน แต่หากเข้าข่ายว่ารถนั้นเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นแล้วก็จัดเป็นรถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.
ความเสียหายที่ได้รับความคุ้มครอง
ผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิดภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ยื่นคำร้องขอ ซึ่งมีกฎกระทรวงกำหนดให้ความเสียหายที่จะให้ได้รับ ค่าเสียหายเบื้องต้น มีรายการดังนี้
1. กรณีได้รับบาดเจ็บแต่ไม่เสียชีวิต ผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ได้แก่
(ก) ค่ายา ค่าอาหารทางเส้นเลือด ค่าอ๊อกซิเจน และอื่นๆ ทำนองเดียวกันที่ใช้ในการบำบัดรักษา
(ข) ค่าอวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษารวมทั้งค่าซ่อมแซม
(ค) ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจรักษา ค่าวิเคราะห์โรค ทั้งนี้ไม่รวมถึงค่าจ้างพยาบาลพิเศษและค่าบริการอื่นทำนองเดียวกัน
(ง) ค่าห้องและค่าอาหารตลอดเวลาที่เข้ารักษาพยาบาล
(จ) ค่าพาหนะนำผู้ประสบภัยจากรถไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล
ในกรณีนี้ผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้น ตามความเสียหายที่แท้จริงหรือเท่ากับจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 16,000 บาท
2. กรณีเสียชีวิตทันที ทายาทโดยชอบธรรมของผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น เป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพผู้ประสบภัยจากรถ โดยจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาท ต่อหนึ่งคน
3. กรณีผู้ประสบภัยจากรถเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล และถึงแก่ความตายในภายหลัง จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นสำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาล (15,000 บาท) และค่าปลงศพ (35,000 บาท) รวมกันแล้วไม่เกิน 50,000 บาท
ค่าเสียหายส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น ค่าเสียหายส่วนนี้ต้องรอพิสูจน์ถูกผิดก่อนผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับค่าชดเชย
ค่าเสียหาย เมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นในข้อ 1-3 ที่กล่าวมา ดังนี้
(1) กรณีได้รับบาดเจ็บแต่ไม่เสียชีวิต ได้รับค่าเสียหายตามความจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อหนึ่งคน รวมแล้วไม่เกิน
(2) กรณีเสียชีวิตทันที ได้รับค่าชดใช้ค่าเสียหายรวมกันเป็นเงิน 100,000 บาทต่อหนึ่งคน
(3) กรณีผู้ประสบภัยจากรถถึงแก่ความตายหลังจากที่มีการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลได้รับค่าชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน100,000 บาทต่อหนึ่งคน (ค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 15,000บาท รวมแล้วต้องไม่เกิน 50,000 บาท)
หมายเหตุ เปลี่ยนแปลงตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 39/2546 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2546
กรณีมอบอำนาจให้สถานพยาบาล หลักฐานที่ผู้ประสบภัยจากรถจะนำมาแสดงเมื่อได้รับอุบัติเหตุ ดังนี้ (กรณีผู้ป่วยใน)
1. สำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจ (แบบใช้เป็น “หลักฐาน” หรือ “คดี”) จำนวน 2 ชุด พร้อมร้อยเวรเซ็นชื่อรับรองสำเนา
2. สำเนาตารางกรมธรรม์ของบริษัทประกันภัยที่ผู้ประสบภัยประสบอุบัติเหตุ จำนวน 2 ชุด พร้อมเจ้าของรถเซ็นชื่อรับรองสำเนา
3. สำเนารายการจดทะเบียนรถ จำนวน 2 ชุด พร้อมเจ้าของรถเซ็นชื่อรับรองสำเนา
4. สำเนาสัญญาเช่าซื้อ (กรณีรถยังผ่อนชำระอยู่) จำนวน 2 ชุด พร้อมเจ้าของรถเซ็นชื่อรับรองสำเนา
5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประสบภัยจากรถ หรือสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ใช้สำเนาสูติบัตร (ใบเกิด)และ
สำเนาบัตรประชาชนของบิดา/มารดา (ผู้บาดเจ็บ + เจ้าของรถ) จำนวน 2 ชุด พร้อมเซ็นชื่อรับรองสำเนา
6. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประสบภัยจากรถ (ผู้บาดเจ็บ + เจ้าของรถ)จำนวน 2 ชุด พร้อมเซ็นชื่อรับรองสำเนา
*เจ้าของเอกสาร รับรองสำเนาถูกต้องและลงชื่อกำกับ ในเอกสารทุกฉบับ *
รายละเอียดสำคัญการแจ้งความในบันทึกประจำวันของตำรวจ ดังนี้
1. ลักษณะการเกิดอุบัติเหตุ
2. วัน เวลา สถานที่เกิดอุบัติเหตุ
3. ชื่อ-นามสกุล พร้อมคำนำหน้า, อายุ, ที่อยู่ของ ผู้ประสบภัยจากรถ
4. ต้องระบุว่าผู้ประสบภัยจากรถ เป็น ผู้ขับขี่, ผู้โดยสาร/ซ้อนท้าย อยู่ในรถคันใด (ถ้ามีคู่กรณี)
5. ระบุยี่ห้อรถ,หมายเลขทะเบียนรถ,หมายเลขตัวถัง หรือเลขเครื่องยนต์ (ในกรณีที่เป็นรถใหม่) ให้ถูกต้องครบถ้วนและชัดเจนตามเอกสารตารางกรมธรรม์และสมุดคู่มือรถ
6. สำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ ให้ร้อยเวรรับรองสำเนาถูกต้อง
กรณี ที่รถไม่ได้ต่อพ.ร.บ.(พ.ร.บ.รถขาด)ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลในวงเงิน 15,000 บาท
ค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกิน 15,000 บาท หากเป็นผู้มีสิทธิ สิทธิข้าราชการ สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฯลฯ
สามารถใช้สิทธิต่อได้
ที่มา: ฝ่ายประกันสุขภาพ รพ.ราชบุรี