"วิสัยทัศน์" เป็นหน่วยงานเวชระเบียนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์ความรู้ด้านบริการและวิชาการที่ได้มาตรฐาน

ความหมายของคำว่า เวชระเบียน

จากการศึกษาเพื่อให้ความหมายของคำว่า เวชระเบียน ซึ่งคำนี้ในพจนานุกรมไทย ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำที่ประกอบกันเป็นคำว่าเวชระเบียนก็คือ
เวช และ ระเบียน
เวช อ่านว่า เวด หรือ เวด-ชะ หมายถึง หมอรักษาโรค
ระเบียน หมายถึง ทะเบียน หรือ แบบ 

เวชระเบียน จึงสามารถอ่านได้สองแบบก็คือ เวด-ระ-เบียน และ เวด-ชะ-ระ-เบียน แต่นิยมอ่านว่า เวด-ชะ-ระ-เบียน มากกว่า ถ้าแปลความหมายตามคำ เวชระเบียน ก็แปลว่า ทะเบียนของหมอรักษาโรค หรือแบบหรือทะเบียนทางการแพทย์ แต่ในความหมายของเวชระเบียนนั้นมีความหมายดังที่มีนักวิชาการได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

        E.K.Huffman ได้ให้ความหมายของเวชระเบียนไว้ในหนังสือ การบริหารงานเวชระเบียน (Medical Record Management) ที่เขียนไว้ในปี พุทธศักราช 2528 ว่า "เวชระเบียน หมายถึง การรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วยและประวัติสุขภาพรวมถึงประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและในปัจจุบัน และการรักษาซึ่งจดบันทึกไว้โดยแพทย์ผู้ดูแล เวชระเบียนจะต้องบันทึกตามเวลาที่ศึกษาดูแลผู้ป่วย และควรจะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอที่จะต้องบอกให้ทราบถึงการพิเคราะห์โรค และการดูแลรักษาโรคได้ และต้องเป็นเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วน"
       อาจารย์หมอ แพทย์หญิงสมพร เอกรัตน์ อาจารย์หมอผู้บุกเบิกงานด้านเวชระเบียนในประเทศไทย ได้ให้ความหมายของคำว่าเวชระเบียนไว้ในแบบเรียน วิชา เวชระเบียนศาสตร์ 1 ในขณะที่ท่านได้สอนวิชาเวชระเบียน ให้กับนักศึกษาหลักสูตรเวชระเบียนของมหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงปี พุทธศักราช 2534 และได้พิมพ์อีกครั้งหนึ่งในปีพุทธศักราช 2537 ว่า "เวชระเบียน หมายถึง การรวบรวมข้อเขียนหรือบันทึกที่เกี่ยวกับการเจ็บป่วย เป็นข้อมูลที่บันทึกเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาล คลินิค หรือสถานีอนามัย เวชระเบียนนั้นเป็นบันทึกขบวนการทุกอย่างงที่จัดกระทำกับผู้ป่วยซึ่งข้อมูลนั้น ๆ ควรจะต้องประกอบด้วยประวัติการเจ็บป่วยในอดีตรวมทั้งความคิดเห็น การค้นหา สืบสวนผลทางห้องปฏิบัติการและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วย เวชระเบียนเป็นเอกสารที่อาจมีหลายขนาดหลายรูปแบบ และหลายข้อมูล โดยการบันทึกของหลายบุคคลในหลาย ๆ วิธีการ แต่ตามรูปลักษณะทั่วไปแล้ว เวชระเบียนจะประกอบด้วยจำนวนแผ่นกระดาษ หรือบัตร ซึ่งอาจจะบรรจุอยู่ในแฟ้มหรือซอง และยิ่งนำสมัยมากไปกว่านี้ก็จะบันทึกในคอมพิวเตอร์หรือบันทึกลงแผ่นกระดาษแล้วถ่ายไว้ในไมโครฟิล์มก็ได้"

         ข้าพเจ้าได้ให้ความหมายของคำว่าเวชระเบียนไว้ในเอกสาร เวชระเบียน ในปีพุทธศักราช 2551 ว่า "เวชระเบียน หมายถึง เอกสารทางการแพทย์ทุกประเภท ที่ใช้บันทึกและเก็บรวบรวมเรื่องราวประวัติของผู้ป่วยทั้งประวัติส่วนตัว ประวัติครอบครัว ประวัติการแพ้ยา เอกสารการยินยอมให้ทำการรักษาพยาบาล ประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน ข้อมูลบ่งชี้เฉพาะของบุคคล การรักษาพยาบาล ค่ารักษาพยาบาล ผลจากห้องปฏิบัติการ ผลการชันสูตรบาดแผลหรือพลิกศพ ผลการบันทึกค่าทั้งที่เป็นตัวเลข ตัวอักษร รูปภาพหรือเครื่องหมายอื่นใด จากอุปกรณ์ เครื่องมือในสถานบริการสาธารณสุขหรือเครื่องมือทางการแพทย์ทุกประเภท หรือเอกสารการบันทึกการกระทำใด ๆ ที่เป็นการสั่งการรักษา การปรึกษาเพื่อการรักษาพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วยไปทำการรักษาที่อื่น การรับผู้ป่วยรักษาต่อ การกระทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจในการรักษาพยาบาลตามที่สถานบริการสาธารณสุขกำหนดไว้ เอกสารอื่น ๆ ที่ใช้ประกอบเพื่อการตัดสินใจทางการแพทย์ เพื่อการประสานงานในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย และเอกสารอื่นใดที่ทางองค์การอนามัยโลก หรือสถานบริการสาธารณสุขกำหนดไว้ว่าเป็นเอกสารทางเวชระเบียน หมายรวมถึงชื่อของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการจัดทำเอกสารดังกล่าว การเก็บรวบรวม การค้นหา การบันทึก การแก้ไข การให้รหัสโรค การจัดทำรายงานทางการแพทย์ การนำมาจัดทำสถิติผู้ป่วย การนำมาเพื่อการศึกษาวิจัย หรือเพื่อการอื่นใดตามที่สถานบริการสาธารณสุขกำหนด นอกจากนี้ยังรวมถึงเอกสารทางการแพทย์ที่อยู่ในรูปแบบสื่อดิจิตอล หรือระบบอิเลคทรอนิกส์ (Electronic Medical Record - EMR) ซึ่งเป็นรูปแบบของเวชระเบียนที่มีการพัฒนาขึ้นในปัจจุบัน"



17.02.55