"วิสัยทัศน์" เป็นหน่วยงานเวชระเบียนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์ความรู้ด้านบริการและวิชาการที่ได้มาตรฐาน

ระวัง ! เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย เข้าข่ายละเมิดสิทธิ

เหตุการณ์ละเมิดสิทธิในสังคมไทย ยังปรากฏเห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิสตรี ละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ ละเมิดสิทธิผู้ต้องหา และหนึ่งในนั้นยังมีเรื่องของการละเมิดสิทธิผู้ป่วย
วันนี้ เราขอยกเรื่องการ “ละเมิดสิทธิผู้ป่วย” มาทำความเข้าใจกันว่า สิทธิที่ผู้ป่วยควรได้รับมีอะไร และการกระทำแบบใดบ้างที่ถือว่าเป็น ละเมิดสิทธิผู้ป่วย และมีความผิดฐานใด

สิทธิที่ผู้ป่วยพึงมี

เป็นสิทธิที่ผู้ป่วยทุกคนพึงได้รับตามกระบวนการผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล การปกปิดข้อมูลหรือการรักษาความลับทางการแพทย์ของผู้ป่วย เพื่อประโยชน์โดยตรงของผู้ป่วยหรือตามกฎหมาย
สำหรับข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยนั้น หมายถึง ข้อมูลเวชระเบียน ประวัติผู้ป่วย หรือผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข อาทิ ข้อมูลทางคลินิกของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและตรวจรักษา ภาพถ่าย วิดีโอ เทปบันทึกเสียง หรือภาพอื่น ๆ ของผู้ป่วย เช่น ฟิล์มเอกซเรย์ เป็นต้น

การกระทำแบบใดที่เข้าข่าย “ละเมิดสิทธิผู้ป่วย”

– การเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย อาทิ ภาพถ่าย ข้อมูลสุขภาพ ผลเลือด หรือข้อมูลการรักษา ในสื่อสังคมออนไลน์
– ถ่ายภาพผู้ป่วย ไม่ว่าภาพดังกล่าวจะถูกนำมาเผยแพร่หรือไม่ก็ตาม
– ถ่ายภาพหมอ หรือพยาบาล ขณะทำการรักษาผู้ป่วย ฯลฯ

กรณี “ละเมิดสิทธิผู้ป่วย” ผิดกฎหมายหรือไม่

การนำข้อมูลของผู้ป่วยไปเปิดเผยไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยทั้งสิ้น และยังเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย 2 ฉบับ ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ 2550 และประมวลกฎหมายอาญา โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ระบุความผิดไว้ว่า
พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ 2550
มาตรา 7 ที่ระบุว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยและอาจทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นโดยตรง และไม่ว่าในกรณีใด ๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพของบุคคลไม่ได้
และมาตรา 49 ที่ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 หรือมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 323 ที่ระบุว่า ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชีหรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้นแล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้รับการศึกษาอบรมในอาชีพดังกล่าวในวรรคแรก เปิดเผยความลับของผู้อื่น อันตนได้ล่วงรู้หรือได้มาในการศึกษาอบรมนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
นอกจาก พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ 2550 และประมวลกฎหมายอาญา ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทยยังต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินการลงโทษทางจริยธรรมโดยแพทยสภา ที่ว่า
ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม 2549
ข้อ 27 ที่ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วย หรือผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วซึ่งตนทราบมา เนื่องจากการประกอบวิชาชีพ เว้นแต่ได้รับความยินยอมโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือตามหน้าที่
อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายจะระบุชัดเจนว่า ห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นที่ทำให้สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ ในบางกรณี อาทิ
– กรณีที่ผู้ป่วยสละสิทธิดังกล่าว ด้วยการให้ความยินยอมแพทย์ในการเปิดเผยข้อมูลการรักษาของตนต่อบุคคลหรือสาธารณชน
– กรณีอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยอื่น ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต 2551 ซึ่งระบุไว้ใน
มาตรา 16 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยในประการที่น่าจะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย เว้นแต่ในกรณีที่จะเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยหรือผู้อื่น หรือเพื่อความปลอดภัยสาธารณชน
พอเห็นแบบนี้แล้ว บอกได้ว่า หากบุคลากรทางการแพทย์ทำข้อมูลผู้ป่วยหลุดออกไปไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม อาจต้องรับโทษทั้งทางแพ่ง อาญา และทางวินัยเลยทีเดียว และในกรณีนี้ ยังรวมถึงบุคคลทั่วไปด้วย



22.05.2562