นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ได้ปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมให้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้นเป็นเรื่องเร่งด่วน และกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกาศเป็น พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ครอบคลุมในหลายกรณี รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามมาตรา 63 (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558
“เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ประกันตนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป สำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วยการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติหรือโรคซึ่งนำไปสู่การป้องกันหรือ หากพบความผิดปกติจะได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรก”นายสุรเดช ระบุ
ส่วนการใช้สิทธิเข้ารับบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงยื่นบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลตามที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ อาทิ การตรวจเต้านม เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม การตรวจความเข้มข้นของโลหิตเพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจาง การตรวจน้ำตาลในเลือด การตรวจการทำงานของไต การตรวจไขมันในเส้นเลือด เพื่อหาความเสี่ยงโรคเรื้อรังที่พบบ่อยไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดอุดตัน
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการการแพทย์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการตรวจสุขภาพตามช่วงอายุและความถี่ในการตรวจ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม สำหรับประชาชนของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมได้เตรียมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการให้บริการผู้ประกันตนเพื่อให้สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ บันทึกข้อมูลการให้บริการและสำนักงานประกันสังคมจะทำการประมวลผลเพื่อเบิกจ่ายค่าตรวจสุขภาพผ่านธนาคาร ซึ่งจะทำให้สถานพยาบาลตามบัตรฯ ให้ความร่วมมือในการบริการแก่ผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้น
นายสุรเดช กล่าวด้วยว่า สำนักงานประกันสังคมได้ประมาณการงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,546 ล้านบาท โดยเป้าหมายหรือตัวชี้วัดความสำเร็จในระยะยาวคือ จำนวนผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังรายใหม่และค่าบริการทางการแพทย์ลดลง ซึ่งจะช่วยให้กองทุนประกันสังคมมีเสถียรภาพและความยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว
http://www.sso.go.th/wpr/content.jsp?lang=th&cat=762&id=469814.02.60