"วิสัยทัศน์" เป็นหน่วยงานเวชระเบียนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์ความรู้ด้านบริการและวิชาการที่ได้มาตรฐาน

เวชระเบียนหายใครรับผิดชอบ

ราชการแนวหน้า : เวชระเบียนหายใครรับผิดชอบ

วันอาทิตย์ ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 06.00 น.

1.เวลาเราเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บในโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอกก็ตาม จะต้องมีเวชระเบียน(ประวัติคนไข้) ที่มีการบันทึกการรักษาพยาบาลไว้ ซึ่งผู้ป่วยสามารถร้องขอสำเนาประวัติดังกล่าวของตนได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลฯ (Privacy Act)

2.เรื่องที่จะนำมาบอกเล่าสู่กันฟังครั้งนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยโรคภูมิแพ้ที่โรงพยาบาล ศ.ในสังกัดของมหาวิทยาลัย ม. และได้รับการรักษาต่อเนื่องมา จนกระทั่งผู้ป่วยเกิดมีอาการชักหมดสติ จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลศ. และได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด หลังการผ่าตัดปรากฏว่าผู้ป่วยเป็นอัมพาตที่ขาสองข้างและควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ผู้ป่วยจึงต้องการสอบถามสาเหตุของอาการดังกล่าวพร้อมชื่อของแพทย์ที่ทำการรักษา แต่ก็ไม่ได้คำตอบและยังคงอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลดังกล่าวตลอดมาระหว่างนั้นผู้ป่วยได้มอบให้ทนายความติดต่อสอบถามขอเวชระเบียนจากทางโรงพยาบาล แต่ก็ไม่ได้รับและทางโรงพยาบาล ศ.ไปแจ้งสถานีตำรวจว่าเอกสารเวชระเบียนสูญหาย (โดยเฉพาะเอกสารการรักษาโดยการผ่าตัด) คงได้รับแต่เอกสารการรักษาทั่วไป ผู้ป่วยจึงได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเกี่ยวกับกรณีนี้


3.ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้ โดยความสรุปว่า เมื่อคดีนี้โรงพยาบาลศ. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองและมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลเวชระเบียนของผู้ป่วยในของโรงพยาบาล ไม่สามารถเปิดเผยเวชระเบียนตามคำร้องขอของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ป่วยในได้ ซึ่งคำขอของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิของผู้ฟ้องคดีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อเวชระเบียนดังกล่าวสูญหายไปจากการครอบครองของโรงพยาบาลจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของผู้ฟ้องคดีอันเนื่องมาจากโรงพยาบาลศ.ปล่อยปละละเลยเป็นเหตุให้เวชระเบียนผู้ป่วยในของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวทั้งสองฉบับพ้นไปจากการครอบครอง ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.587/2562)

4.เมื่อได้อ่านคำพิพากษาของฉบับนี้แล้วหวังว่า ผู้บริหารของหน่วยงานของรัฐที่ต้องดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคลคงจะต้องวางมาตรการควบคุมดูแลเก็บรักษาข้อมูลนั้นอย่างระมัดระวังและตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะการนำไปใช้ในส่วนราชการด้วยกันเอง ตลอดจนการเก็บรักษาด้วยระบบดิจิทัลด้วย อย่าลืม ระมัดระวังระบบข้อมูลสำรองด้วยนะ


https://www.naewna.com/politic/615530





31.12.64


ส่งยาถึงบ้าน

แจ้งความประสงค์ที่ลิ้งค์นี้นะคะ 

http://www.virtualhos.net/apps/home

สามารถใช้ Password เดียวกันกับ application Hygge (ฮุกกะ)

หากยังไม่เคยมี Password ให้คลิ๊กที่ วิธีการลงทะเบียน และเลือกเมนู ส่งยาถึงบ้าน

26.04.64

















26.04.64

ความคุ้มครองประชาชนสิทธิบัตรทอง กรณีมีอาการสงสัยป่วย "โรคโควิด-19"

สปสช.แจ้งประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยป่วยโรคโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์ล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขที่ปรับปรุงเมื่อวันที่ 21 มี.ค.63 สามารถเข้ารักษา รพ.ตามสิทธิ ไม่เสียค่าใช้จ่าย  หากอาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ แต่อยากทราบว่าติดเชื้อหรือไม่ ไม่ต้องไป รพ.เพื่อขอตรวจ จะเพิ่มความเสี่ยงรับเชื้อโดยไม่จำเป็น

สำหรับประชาชน สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง 30 บาทนั้น หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ให้โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลของท่าน โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ แจ้งประวัติ ไม่ปกปิดข้อมูลใด ๆ เพื่อตรวจเชื้อ หากพบว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 จะได้รับการรักษาตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งโรงพยาบาลตามสิทธิของท่านจะประสานส่งตัวเข้ารับการรักษาอย่างมีมาตรฐานในโรงพยาบาล โดยผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

หลักเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 ดังนี้

1.ผู้ป่วยที่มีประวัติไข้ หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง (ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หรือหายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก) และมีประวัติในช่วง 14 วัน ก่อนวันเริ่มมีอาการ คือ

ก.มีการเดินทางไปหรือมาจากประเทศ หรือ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการรายงานการระบาดต่อเนื่องของ COVID-19 หรือ

ข.เป็นผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดต่อเนื่องของCOVID-19 หรือ

ค.มีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยที่ยืนยัน COVID-19 ตามแนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค

ง.เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือสารคัดหลังจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยสงสัยหรือยืนยัน COVID-19 โดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม

จ.มีประวัติไปในสถานที่ที่ประชาชนหนาแน่นที่พบผู้ป่วยยืนยันในช่วงเวลาเดียวกันตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประกาศ

2.ผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

ก.มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 หรือ

ข.เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือ

ค.เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้และรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 48-72 ชั่วโมง หรือ

ง.เป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่มีลักษณะเข้าได้กับ COVID-19

3.การพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน

ก.กรณีเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่ 3 รายขึ้นไป ในแผนกเดียวกันในช่วงสัปดาห์เดียวกัน (หากสถานพยาบาลขนาดเล็ก เช่น คลินิก ใช้เกณฑ์ 3 รายขึ้นไปในสถานพยาบาลนั้นๆ)

ข.กรณีไม่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป ในสถานที่เดียวกัน ในช่วงสัปดาห์เดียวกันโดยมีความเชื่อมโยงกันทางระบาดวิทยา

อย่างไรก็ดี พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่หวาดกลัว แล้วต้องการไปขอรับการตรวจเชื้อจากโรงพยาบาล โดยที่ไม่มีอาการและประวัติการสัมผัสโรคและไม่เข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อตัวจริงเข้าไม่ถึงบริการ

ในกรณีนี้ สปสช.ขอแนะนำประชาชนให้ทำตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้ไปขอตรวจและขอใบรับรองแพทย์เนื่องจาก

1.การไปตรวจหาเชื้อในช่วงที่ไม่มีอาการ โอกาสพบเชื้อน้อยมาก หรือหากตรวจแล้วพบว่าเป็นลบก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่ป่วยจึงไม่มีความจำเป็นที่จะไปขอตรวจ ในขณะที่ไม่มีอาการ

2.การไปโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็น จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล และที่สำคัญอาจนำเชื้อต่าง ๆ ไปติดผู้ป่วยในโรงพยาบาลซึ่งมีร่างกายไม่แข็งแรงได้

3.เมื่อมีอาการตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข รีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิของท่าน โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ แจ้งประวัติ ไม่ปกปิดข้อมูลใด ๆ

โดยสรุปการปฏิบัติตัวสำหรับประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท คือ

1. หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยป่วยโรคโควิด-19 รีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิของท่าน กรณีไปต่างจังหวัดให้ไปที่โรงพยาบาลของรัฐ เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จะถูกส่งตัวรักษาตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2. หากอาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ แต่สงสัยเองว่าจะป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้วต้องการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เอง โดยที่แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยให้ ต้องจ่ายเงินเอง ทั้งนี้ขอย้ำว่า ในกรณีนี้ไม่แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจเอง แม้จะจ่ายเงินเอง แต่การไปโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็น จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล และเพิ่มภาระให้บุคลากรสาธารณสุขโดยไม่จำเป็น

 


แหล่งข้อมูล https://www.hfocus.org/content/2020/03/18778

http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=739



18.01.64 

ไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่

 อาการป่วยใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ มีน้ำมูก คัดจมูก เจ็บคอ บางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง จะพบอาการหายใจเร็ว เหนื่อย ติดต่อได้ 2 ทาง ได้แก่ ทางตรง และทางอ้อม ดังนี้

        1. ทางตรง จากการไอ จาม รดกัน โดยเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยจะฟุ้งกระจายในอากาศ และคนที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร หายใจเอาฝอยละอองเข้าไป ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรค

        2. ทางอ้อม จากการใช้มือสัมผัสเชื้อโรค หรือสิ่งของเครื่องใช้สาธารณะที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ลูกบิดประตู ขอบประตู โทรศัพท์ ราวบันได ปุ่มกดลิฟท์ ราวจับบนรถสาธารณะ รถไฟฟ้า รถเข็นในซุปเปอร์มาเก็ต เมาส์ คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ เป็นต้น และเอามือมาสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้

       ป้องกัน ไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางของสุขบัญญัติ

1.  ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด

            * อาบน้ำให้สะอาดทุกวัน ใส่เสื้อผ้าที่ซักสะอาด ตากแดดให้แห้ง                      

            * ทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ ให้สะอาด โดยเฉพาะสิ่งของที่มีการใช้มือสัมผัสจับต้อง เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู  เมาส์  คีย์บอร์ด โทรศัพท์ โต๊ะ เก้าอี้

             * ถ้ามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อยู่ในบ้านเดียวกันให้แยกเสื้อผ้าผู้ป่วยซักต่างหาก                                                                        

            * หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ช้อนอาหาร

2. รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง  ดูแลสุขอนามัยในช่องปากให้เป็นนิสัย

3. หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือ                                         

            * ก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำห้องส้วม

            * หลังการไอ จาม         

            * หลังหยิบจับสิ่งสกปรก หรือสัมผัสสัตว์เลี้ยงทุกชนิด                                                                                                        

            * หลังสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้สาธารณะหรือที่ใช้ร่วมกัน เช่น ที่เปิดปิดประตู โทรศัพท์ราวบันได ปุ่มกดลิฟท์ ราวจับบนรถสาธารณะ รถไฟฟ้า รถเข็นในซุปเปอร์มาเก็ต เมาส์ คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ ฯลฯ                                                                                                                     

            * หลังการเยี่ยมผู้ป่วย                                                                                                                                                      

            * เมื่อเดินทางถึงจุดหมาย เช่น เมื่อถึงโรงเรียน/ที่ทำงาน เมื่อถึงบ้าน

            * พกแอลกอฮอล์เจลติดตัว ใช้ถูทำความสะอาดมือ 15 วินาที เมื่อไม่มีโอกาสล้างด้วยน้ำและสบู่                                                                             

            * ล้างมือให้เป็นนิสัยจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายและการติดต่อของโรค เพราะมือเป็นตัวกลางนำเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นและรับเชื้อมาสู่ตัวเอง  

            * ห้ามใช้มือที่ไม่ได้ล้าง จับต้องใบหน้า ตา จมูก ปาก                                        

* ไม่ใช้มือแคะจมูกหรือขยี้ตา เพราะเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุจมูกและตา

4. กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด

            * กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ  และมีคุณค่าทางโภชนาการ                                                                                                   

            * กินผัก ผลไม้สด เป็นประจำทุกวันเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักโขม บรอกโคลี ฝรั่ง ส้ม มะละกอ น้ำมะนาว                

            *  ใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น

            *  ตักแบ่งน้ำจิ้มใส่ถ้วยเฉพาะคนในการกินอาหารร่วมกัน                             

            * ห้ามกินอาหารสุกๆ ดิบๆ

5. งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ                  

6. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น                                             

7. ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท

8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี

รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน ๆ ละ 30 นาทีขึ้นไป ร่วมกับกินอาหารที่มีประโยชน์  ดื่มน้ำสะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มสุรา ตรวจสุขภาพทุกปี

9. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ

            * นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่นอนดึก                                                                            

            * สร้างความสุขให้ตัวเองด้วยการมองโลกในแง่บวก ทำกิจกรรมที่ชอบ ยิ้มบ่อยๆ

10. มีสำนึกส่วนรวมร่วมสร้างสรรค์สังคม

            * เมื่อป่วย หรือมีอาการไข้หวัด ไอ จาม

              สวมหน้ากากอนามัย โดยล้างมือก่อนสวมหรือเปลี่ยนหน้ากากอนามัย และเลือกขนาดให้กระชับพอดีกับใบหน้า สวมให้คลุมทั้งจมูกและปาก                                               

 - หน้ากากอนามัยที่ทำจากกระดาษ ควรเปลี่ยนทุกวันและทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิด                       

- หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้า หลังใช้ซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกและตากแดดให้แห้งก่อนนำกลับมาใช้ใหม่        

 - เตรียมกระดาษทิชชูไว้ใกล้ตัว ใช้กระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอจาม ทิ้งทิชชูลงในถังขยะที่มีฝาปิด แล้วล้างมือให้สะอาด                                           

- ในกรณีจำเป็นไม่สามารถใช้ทิชชูได้ ให้ยกแขน ใช้แขนเสื้อท่อนบนปิดปากปิดจมูกแทนการใช้มือ        

- ล้างมือบ่อยๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล

- หยุดพักเรียน พักงาน พักผ่อนอยู่ที่บ้าน 3-7 วัน ลดการแพร่ระบาด

- งดหรือหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก ตลอดจนการร่วมกิจกรรมในที่สาธารณะและการเดินทาง     

          ผู้ที่มีประวัติเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือพื้นที่เสี่ยง หากมีไข้ และมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ภายใน 14 วัน หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ขอให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดเสมอ และ รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขทันที หรือโทร 1422 ปฏิบัติสุขบัญญัติ ให้เป็นนิสัย  ไม่เสี่ยงและปลอดภัยจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่

แหล่งที่มา : แผ่นพับป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ด้วยสุขบัญญัติ กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=682
                                              
18.01.64