ก้าวใหม่อีกครั้งกับระบบเวชระเบียนอิเลคทรอนิกส์ โรงพยาบาลราชบุรี

เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ EMR (Electronic  Medical  Record) หมายถึง เวชระเบียนโรงพยาบาลราชบุรี ทุกรายที่ถูกบันทึกลงในสื่ออิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ โดยใช้หลักการถ่ายจากภาพจริงหรือถ่ายภาพจากเอกสารกระดาษ แปลงไปเป็นไฟล์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ชนิดรูปภาพ โดยการสแกนหรือวิธีอื่นใดในอนาคต ที่มีความพร้อมใช้งาน (Availability)คือสามารถเรียกใช้งานได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ผ่านระบบเครือข่ายเชื่อมต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพาอื่นๆ ของผู้รับ แทนเวชระเบียนที่อยู่ในรูปแบบของเอกสารที่ใช้กระดาษ 

เวชระเบียนเป็นเอกสารที่มีข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยที่เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนการสอน การบริหารจัดการ การเงินการคลังและทางด้านกฎหมาย อีกทั้งเป็นเอกสารหลักฐานที่จะต้องเก็บไว้ตามเกณฑ์ของแพทย์สภา เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้ต่อเนื่อง  เวชระเบียนที่ถูกส่งเข้ามาที่หน่วยงานในแต่ละวัน  มีจำนวนมากและมีความหนาเพิ่มขึ้นซึ่งต้องใช้สถานที่และวัสดุอุปกรณ์ ในการจัดเก็บอย่างมหาศาล จึงทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานคือเวชระเบียนที่จะถูกจัดเก็บตามตู้ต่างๆ ภายในหน่วยงานไม่เพียงพอ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อตู้  แฟ้ม  กระดาษ  และเปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บ  
ส่วนการสืบ/ค้นเวชระเบียนยังเป็นแบบ Manual  ทำให้เกิดความล่าช้าในการค้นหาเวชระเบียน รวมถึงการจัดส่งเวชระเบียนไปยังแผนกหรือหน่วยงานอื่นล่าช้า  งานเวชระเบียน โรงพยาบาลราชบุรี ได้เริ่มต้นนำระบบ Scanมาใช้ในการจัดเก็บเวชระเบียน  ซึ่งเริ่มใช้ในเดือนกันยายน 2548 มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดเก็บในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิคส์ และมีเป้าหมายที่จะ Scan เวชระเบียนผู้ป่วยใน  ที่จำหน่ายในปี พ..2549 แต่การดำเนินงานไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เนื่องจากปัญหาหลาย ๆ ประการ เช่น ไม่มีการจัดตั้งหน่วย Scan ไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ ไม่มีระบบการเชื่อมต่อกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล รวมถึงไม่มีผู้ดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ฯลฯ ซึ่งงานเวชระเบียน สามารถ Scan ได้เฉพาะเวชระเบียนผู้ป่วยใน  กรณีประกันชีวิต คดีความ ร้องเรียน และรักษาต่อเนื่องเท่านั้น ซึ่งไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร

ปัจจุบัน โรงพยาบาลราชบุรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ความสมบูรณ์ ความพร้อมใช้งานของเอกสารเวชระเบียน จึงได้เกิดการพัฒนาระบบเวชระเบียนอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งการพัฒนาในครั้งนี้ใด้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในองค์กร เริ่มจาก แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ โดยการนำของทีมหลักที่สำคัญคืองานพัฒนานวตกรรมฯ (IT) ร่วมกันพัฒนาด้วยองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดระบบเวชระเบียนที่สมบูรณ์แบบ ให้ตอบสนองต่อจำนวนผู้รับบริการและความต้องการของบุคลาการ

1 กันยายน 2560 โรงพยาบาลราชบุรี ประกาศใช้ระบบ OPD Card Scan โดยมีกระบวนการและขั้นตอนการรับบริการคล้ายระบบเดิม มีการเปลี่ยนแปลงบางส่วนเท่านั้น เช่น  

เปลี่ยนจากการพิมพ์ใบสั่งยา เป็น ใบขั้นตอนการรับบริการ

การค้นแฟ้มเวชระเบียน ยังค้นอยู่ในระยะ 6 เดือนแรก

แบบบันทึกการตรวจรักษา (OPD Card) เปลี่ยนแปลงจาก กระดาษ A5 เป็น A4

ข้อมูลการตรวจรักษา มีการบันทึกด้วย OPD Card แบบ A4 

OPD Card A4 ส่ง Scan ที่งานเวชระเบียน

ระยะแรกปัญหาอุปสรรคก็มีบ้างพอสมควร ค่อยๆ แก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนไปเพื่อให้เกิดระบบที่สมบูรณ์ สำหรับเรา ความพยายามมีมา 12 ปีแล้ว ครั้งนี้น่าจะประสบผลสำเร็จ



                                                              








29.11.60