เช้าวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2543 กองกำลังก็อดอาร์มี กลุ่มเดิมที่นำโดย นายจอห์นนี่ จำนวน 10 คน ได้ก่อเหตุด้วยการปลอมตัวเป็นผู้โดยสารนั่งรถประจำทางสายสวนผึ้ง-ราชบุรี แล้วใช้ปืนเอ็ม-16 และระเบิดจี้คนขับรถให้พาไปยังโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เมื่อไปถึงได้บุกยึดโรงพยาบาล จับแพทย์ พยาบาล และคนไข้ประมาณ 1,000 คน เป็นตัวประกัน


จากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยพยายามเข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากผู้ก่อการได้วางระเบิดดักไว้ที่ลาดจอดรถทั้งด้านหน้าและด้านหลังโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีเจรจาต่อรองจนทราบว่า กลุ่มก็อดอาร์มี ต้องการนำตัวแพทย์ และพยาบาลไปรักษาทหารกะเหรี่ยงที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกทหารรัฐบาลพม่าปราบปรามอย่างหนัก โดยข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกะเหรี่ยงก็อดอาร์มี่ มีดังนี้
1. ให้รัฐบาลไทยหยุดใช้ปืน ค 120 มม. ยิงชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดนและให้รับรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
2. ให้รัฐบาลไทยหยุดช่วยเหลือทหารพม่าที่มาใช้ดินแดนไทยมาต่อสู้กับชนกลุ่มน้อย
3. ให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือผู้อพยพบ้านบ่อหลี
4. ให้รัฐบาลไทยกดดันรัฐบาลพม่าให้ยอมรับชนชาติกะเหรี่ยง
5. ให้รัฐบาลไทยลงโทษทหารไทยที่สั่งให้ยิงฐานกำลังของตน
ระหว่างนี้มีการยิงปืนขู่เป็นระยะ ๆ กดดันไม่ให้ตำรวจ-ทหารเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ต่อมาสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เมื่อกะเหรี่ยงก็อดอาร์มี่ยอมปล่อยตัวประกันเด็ก สตรี และคนชราที่ป่วยออกมารักษา เพื่อแลกกับอาหาร
เมื่อความมืดเข้าครอบคลุม นักรบพระเจ้าเปลี่ยนเสื้อผ้าจากลายพรางมาเป็นชุดผู้ป่วย เพื่อให้ตำรวจทหารแยกแยะไม่ออก ป้องกันการจู่โจมและปิดประตูหน้าต่าง ไฟฟ้า ไม่ให้สังเกตเห็นความเคลื่อนไหวภายใน
อย่างไรก็ตาม เมื่อใกล้ค่ำสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง ผู้ก่อการร้ายขอเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ เพื่อนำคณะผู้ก่อการร้ายไปส่งชายแดน เมื่อฝ่ายเจรจาซักถามให้ไปส่งที่ใด ผู้ก่อการร้ายตอบไม่ได้ สับสน กังวล ไม่แน่ใจในความปลอดภัย ตอบเพียงว่าขอให้ไปส่งแนวชายแดนพื้นที่ของกะเหรี่ยงก็อดอาร์มี แต่การต่อรองก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้
ในขณะที่พยายามจัดหาสิ่งที่ฝ่ายผู้ก่อการร้องขอมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยทั้งทหารและตำรวจพยายามต่อรองเพื่อหันเหความสนใจ โดยการถ่วงเวลาให้ผู้ก่อการอ่อนล้าและรอกำลังเสริม เพราะฝ่ายไทยวางแผนเตรียมจัดการขั้นเด็ดขาด เนื่องจากเกรงว่าหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อจะไม่เป็นผลดี กองกำลังผสมชุดปฏิบัติการนเรศวร 261 ของ ตชด. หน่วยอรินทราช 26 ของ บช.น.และชุดปฏิบัติการ 90 จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี จึงค่อย ๆ คืบคลานเข้าประจำจุดอย่างเงียบเชียบและรัดกุม รอคอยคำสั่งปฏิบัติการ เน้นความรวดเร็วและแม่นยำ ที่สำคัญต้องไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากผู้ก่อการร้าย
ในที่สุด เวลา 04.00 น. ของวันที่ 25 มกราคม กองกำลังหน่วยนเรศวร 261 จำนวน 50 นายได้บุกเข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน ควบคู่ไปกับการจัดการขั้นเด็ดขาด โดยใช้เวลาเพียงไม่ถึง 20 นาที สามารถช่วยเหลือตัวประกันไว้ได้ทั้งหมดอย่างปลอดภัย และกลุ่มก็อด อาร์มี่ เสียชีวิต 10 คน

จนกระทั่งวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2544 ลูเธอร์และจอห์นนี่ ฮะทู พร้อมลูกน้องทั้ง 27 คน ได้เข้ามอบตัวต่อทางการไทย และถูกส่งไปอยู่ในค่ายผู้อพยพ พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านต้นยาง ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
วันกองทัพไทย
สำหรับการปราบผู้ก่อการร้ายดังกล่าวตรงกับ 25 มกราคม วันกองทัพไทยพอดิบพอดี ซึ่งทุกปีมีการเดินสวนสนามประกาศความยิ่งใหญ่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราช ทรงเป็นนักรบผู้กล้าหาญ นักรบผู้ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะสมรภูมิที่สู้รบกับพม่า พระองค์ประสบชัยชนะอย่างสง่างามและเด็ดขาด
แต่สถานการณ์ที่คลุมเครือดังกล่าวทำให้ ณ เวลานั้น กองทัพไทยยังไม่สามารถเฉลิมฉลองได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดย ผบ.ทบ.พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ในทุกสนามรบ ยอมไม่ได้เด็ดขาด ชาติอยู่เหนืออื่นใด จะปล่อยให้ก็อดอาร์มี กองกำลังกะเหรี่ยงลูบคมหยามศักดิ์ศรีทหารไทย คนไทย ถึงสองครั้งได้อย่างไร
แผนเผด็จศึกถูกจัดวางอย่างรอบคอบรัดกุม ไม่มีผู้ใดรู้ล่วงหน้าเลยเพียงแต่กำชับให้ทุกหน่วยต้องพร้อมปฏิบัติเมื่อมีคำสั่งเท่านั้น เพียงคำนี้ทุกหน่วยรบรู้เองว่าจะปฏิบัติอย่างไร และอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป การซักซ้อม ประสานการปฏิบัติหน่วยต่อหน่วย ซ้อมครั้งแล้วครั้งเล่า ซ้ำซาก กำหนดทิศทางต้องลงตัวเสมอ ผิดแม้แต่องศาเดียวหมายถึง ชีวิตตัวประกัน ชีวิตตนเอง ชื่อเสียงประเทศชาติ เกียรติภูมินักรบไทย จนในที่สุดกองทัพไทยก็สามารถปราบผู้ก่อการร้ายลงได้อย่างราบคาบ
มาทำความรู้จักกับ ก็อดอาร์มี่ นักรบของพระเจ้า
ตั้งแต่ปี 2530 นักศึกษาและประชาชนชาวพม่าเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลทหารเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงถูกกวาดล้างอย่างหนัก จนต้องหลบหนีมาอาศัยอยู่กับชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดน บางส่วนหนีเข้ามาฝั่งไทย ด้วยความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์นักศึกษาพม่าขึ้นที่บ้านมณีลอย ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534

จอห์นนี่และลูเธอร์ ฮะทู

ต่อมาปี 2538 กองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติเคเอ็นยู ถูกทหารพม่าตีแตกออกเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มหนึ่งใช้ชื่อว่า "ก็อดอาร์มี่" หรือนักรบพระเจ้า มีผู้นำเป็นเด็กแฝดลิ้นดำ 2 คน คือ จอห์นนี่และลูเธอร์ ฮะทูซึ่งมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มนักศึกษาพม่าศูนย์มณีลอย เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลพม่า เช่น บุกยึดสถานทูตพม่าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 และยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ปี 2543 และมีความพยายามอีกหลายครั้ง
จนกระทั่งวันที่ 16 มกราคม 2544 สองเด็กแฝดลิ้นดำพร้อมลูกน้องเข้ามอบตัวต่อทางการไทย สุดท้ายทางการไทยจึงสั่งปิดศูนย์ในปี 2545 โดยมีนักศึกษาบางส่วนถูกส่งตัวไปยังประเทศที่สามhttp://hilight.kapook.com/view/81233
30.07.56