"วิสัยทัศน์" เป็นหน่วยงานเวชระเบียนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์ความรู้ด้านบริการและวิชาการที่ได้มาตรฐาน

สิทธิเบิกจ่ายตรง


คือ โครงการคู่ขนานกับระบบเบิกจ่ายค่ารักษาเดิม(ใบเสร็จ,หนังสือต้นสังกัด) เป็นโครงการแบบสมัครใจสำหรับผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว
 ยกเว้นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีหลักแห่งชาติที่มีค่าใช้จ่ายสูง 6 ชนิด  ต้องเข้าระบบเบิกจ่ายตรงทุกคน  สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเบิกจ่ายตรง  คือ
                     ผู้ป่วยนอก  :  ไม่ต้องทดรองจ่ายเงินไปก่อน
                     ผู้ป่วยใน    :  ไม่ต้องมีหนังสือรับรองการมีสิทธิ (หนังสือส่งตัว) จากต้นสังกัดไปยื่นให้สถานพยาบาลก่อนเข้ารับการรักษา
                     เพื่อให้เกิดความถูกต้องตามระเบียบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล  กรมบัญชีกลางจึงเห็นควรให้มีการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อยืนยันสิทธิการรักษาพยาบาลของตนเองและบุคคลในครอบครัว  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เชื่อมโยงกับการจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดอีกด้วย  โดยมีแนวปฏิบัติของผู้ใช้สิทธิการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล  ดังนี้
                     1.   ผู้ใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอก  ต้องเป็นข้าราชการ  ลูกจ้างประจำ  ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ  และบุคคลในครอบครัว (บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิจ่ายตรงได้) ที่มีชื่อในฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐของกรมบัญชีกลาง  โดยติดต่อนายทะเบียนที่ต้นสังกัดเพื่อจัดทำฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐให้สมบูรณ์ครบถ้วน 
                     2.   กรมบัญชีกลางปรับปรุงข้อมูลที่สมบูรณ์แล้วทุก  15  วัน (วันที่ 4  และวันที่ 8 ของเดือน)  ข้าราชการ  ลูกจ้างประจำ  ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ  และบุคคลในครอบครัวสามารถตรวจสอบว่ามีชื่อในฐานข้อมูลตามข้อ 1  หรือไม่  ผ่าน website กรมบัญชีกลาง (www.cgd.go.th)  โดยเข้าไปที่หัวข้อสวัสดิการรักษาพยาบาลและเลือกรายการตรวจสอบสิทธิการรักษาสวัสดิการ
                            2.1 กรณีที่ตรวจสอบแล้วมีชื่อ  :  ต้องสมัครลงทะเบียนและแสกนลายนิ้วมือ ณ สถานพยาบาลที่จะเข้ารับการรักษาก่อน  (ไม่จำกัดจำนวนโรงพยาบาลที่จะสมัคร)
                  กรณีผู้ป่วยนอก  สามารถใช้ระบบจ่ายตรงได้หลังจากลงทะเบียนแล้ว 15 วัน และในช่วง 15 วันนั้น  หากต้องเข้ารักษาพยาบาล  ให้นำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลไปวางเบิกกับต้นสังกัด
                  2.2 กรณีที่ตรวจสอบแล้วไม่มีชื่อ  :  ให้ข้าราชการ  ลูกจ้างประจำ  ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ  และบุคคลในครอบครัว  ติดต่อนายทะเบียนของส่วนราชการที่ตนสังกัดอยู่  เพื่อทำการปรับปรุงข้อมูลในฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐของกรมบัญชีกลาง  กรณีที่บิดา-มารดาของข้าราชการที่มีบุตรเป็นข้าราชการหลายคน  ฐานข้อมูลรักษาพยาบาลของบุตร(ที่เป็นข้าราชการ)ทุกคนต้องถูกต้องตรงกัน  หากมีข้อมูลของรายใดไม่ถูกต้องสมบูรณ์  อาจทำให้บิดา-มารดาไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลได้  จึงต้องปรับปรุงข้อมูลของผู้มีสิทธิในฐานข้อมูลฯ ให้สมบูรณ์  หลังจากมีชื่อในฐานข้อมูลฯ แล้ว  จึงจะสามารถสมัครลงทะเบียนตามข้อ 2.1 ได้
                     3.   ข้าราชการ  ลูกจ้างประจำ  ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ  และบุคคลในครอบครัวที่มีสิทธิซ้ำซ้อน (เช่น  สิทธิประกันสังคม  ข้าราชการรัฐวิสาหกิจ  สิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เช่น อบต., เทศบาล, ครูเอกชนฯ)  ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการจ่ายตรงรักษาพยาบาลได้  ต้องใช้ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลหรือหนังสือรับรองจากต้นสังกัด(ใบส่งตัว)  ประกอบการเบิกจ่ายจากต้นสังกัดของตน  เว้นแต่ค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับนั้นต่ำกว่าเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่มีสิทธิจะได้รับจากทางราชการ  ก็มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลส่วนที่ขาดอยู่ได้
                     4.   หนังสือรับรองการมีสิทธิสำหรับโครงการผู้ป่วยนอกรักษาต่อเนื่อง (แบบ 7101/1), หนังสือรับรองการมีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาล (แบบ7100/1),  และวิธีการรับรองใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ  ไม่สามารถนำมายื่นต่อสถานพยาบาลได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549   เพราะผู้รับการรักษาโรคต่อเนื่อง  ต้องเข้าระบบจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลทุกคน
                     5.   ข้าราชการ  ลูกจ้างประจำ  ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ  และบุคคลในครอบครัวที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลยังคงสามารถนำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมาวางเบิกกับต้นสังกัดกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก  และขอหนังสือต้นสังกัดกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในได้ตามปกติ
                            หากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐที่ไม่ใช่โรงพยาบาลที่ใช้สิทธิเบิกจ่ายตรง  สามารถนำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมาเบิกจากต้นสังกัดได้ 
                            การตรวจสุขภาพประจำปีไม่สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงได้  ต้องนำใบเสร็จมาเบิกจากต้นสังกัด
                     6.   กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน  หากตรวจสอบแล้วมีชื่อตามข้อ 2.1  สามารถแจ้งโรงพยาบาล  เพื่อให้ขอเลขอนุมัติแทนหนังสือรับรองการมีสิทธิทาง web page ได้
                            หนังสือรับรองสิทธิฯ จากต้นสังกัดของผู้ป่วยยังใช้ได้อยู่  เหตุที่ยังคงหนังสือรับรองสิทธิในกรณีผู้ป่วยใน  เป็นเพราะการปรับปรุงฐานข้อมูลผู้มีสิทธิฯ  จากต้นสังกัดอาจจะต้องใช้เวลาเกินกว่าระยะเวลาการรักษาตัวในสถานพยาบาลก็ได้  ซึ่งถ้าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นก็จะเป็นปัญหากับการเบิกของสถานพยาบาลเอง  ในอนาคตเมื่อฐานข้อมูลผู้มีสิทธิฯ สมบูรณ์ขึ้น   เชื่อว่าผู้ป่วยจะใช้หนังสือรับรองสิทธิลดลงและเลิกไปในที่สุด
                     ระบบจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549  เมื่อลงทะเบียนครั้งแรกครั้งเดียวใช้ได้ตลอดไป  ทั้งนี้เพื่อให้ข้าราชการ  ลูกจ้างประจำ  ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ  และบุคคลในครอบครัวได้รับคุณภาพในการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นธรรม  สามารถควบคุมและตรวจสอบค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทำให้ผู้มีสิทธิได้รับความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยยังได้สิทธิเหมือนเดิม  หากผู้มีสิทธิมีข้อสงสัยหรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามไปยัง  กลุ่มงานสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (กสพ) โทร. 02-2710686-90 ต่อ 4441, 4684, 4318, 4319 หรือที่ www.cgd.go.th
เกตน์รดา  โชติการ
นักวิชาการเงินและบัญชี
สถาบันทักษิณคดีศึกษา