"วิสัยทัศน์" เป็นหน่วยงานเวชระเบียนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์ความรู้ด้านบริการและวิชาการที่ได้มาตรฐาน

ความรู้เกี่ยวกับ ใบรับรองแพทย์

ความรู้เกี่ยวกับ ใบรับรองแพทย์ใบรับรองแพทย์ เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่มักจะไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับใบรับรองแพทย์มากนัก โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบว่า ใบรับรองแพทย์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และ นำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง บางครั้งทำให้ปัญหาระหว่างแพทย์ กับ ผู้ป่วย ขึ้นมา เราลองมาดูกันสิว่า ใบรับรองแพทย์คืออะไร สำคัญอย่างไร ....


ใบรับรองแพทย์ คือ รายงานสภาวะสุขภาพอนามัยของผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งออกโดย แพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ของ แพทย์สภา

ใบรับรองแพทย์ จะบอกถึงภาวะสุขภาพอนามัย การตรวจรักษา ความเห็นในด้านการแพทย์ นอกจากนั้นยังรวมถึงการรับรองการเกิดและการตายด้วย



ใบรับรองแพทย์ อาจแบ่งได้ 3 ประเภท







1. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ปกติของ สุขภาพอนามัยและร่างกาย ( ใบรับรองสุขภาพ )

จะรายงานถึงความสมบูรณ์ของร่างกายทั่วไป และ การไม่เป็นโรคบางชนิด ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ตามความต้องการของแต่ละ บริษัท / หน่วยงาน ที่ต้องการใช้

บางกรณีอาจให้แพทย์ออกความเห็นด้วย เช่น ให้ออกความเห็นว่าเหมาะสมกับงานที่ต้องทำหรือไม่ ซึ่งแพทย์ต้องพิจารณาให้เหมาะสม ถูกต้องมากที่สุด







2. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความ ผิดปกติ ของสุขภาพอนามัยและร่างกาย

จะรายงานถึงสภาพความเจ็บป่วยที่เป็น ระยะเวลาของการเจ็บป่วย ระยะเวลาในการรักษา วิธีรักษาพยาบาล และการพยากรณ์โรคหลังจากสิ้นสุดการรักษา ซึ่งจะมีผู้ที่นำใบรับรองแพทย์นี้ไปใช้ต่อ เช่น

- ผู้ป่วยอาจนำใบรับรองแพทย์นี้เพื่อประกอบการลาพักงาน การลาออกจากงาน การเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล หรือ เรียกร้องการชดใช้เนื่องจากการบาดเจ็บ หรือ สูญเสียอวัยวะต่าง ๆ

- เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน อาจนำไปใช้เพื่อประกอบในการพิจารณาคดี



3. การรับรองการเกิดและการตาย

ตามกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 แพทย์ผู้ทำคลอดต้องทำใบรับรองการเกิด เพื่อให้บิดามารดาของทารกไปแจ้งให้พนักงานท้องถิ่นทราบ รวมถึงการรับรองการตายด้วย

สำหรับการตายผิดธรรมชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ และแพทย์ต้องทำรายงานความเห็นแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ด้วย




เมื่อบุคคลมีความจำเป็นจะต้องใช้ใบรับรองแพทย์ แพทย์ก็ควรทำให้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าบุคคลนั้นได้มาพบแพทย์ และได้รับการตรวจสุขภาพหรือดูแลรักษา ตามที่เป็นจริง


ส่วนว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง จะนำไปใช้อย่างไร นำไปใช้ได้หรือไม่ ... ก็ขึ้นอยู่กับระเบียบ วิธีปฏิบัติของบริษัท หรือ หน่วยงานนั้น ๆ แพทย์มีหน้าที่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงเท่านั้น … เป็นการแสดงความเห็นทางการแพทย์ แต่ไม่มีผลบังคับตามกฏหมาย ที่จะไปบังคับให้ผู้เกี่ยวข้อง (ผู้ป่วย พนักงาน เจ้าของกิจการ บริษัทประกัน ฯลฯ ) ต้องทำตามความเห็นของแพทย์ ...




แพทย์กับใบรับรองแพทย์

การออกใบรับรองแพทย์ที่ไม่ถูกต้อง หรือ เป็นเท็จ แพทย์อาจได้รับโทษได้อย่างน้อย 2 สถานคือ

1. ความผิดทางกฎหมายอาญา มาตรา 269

ซึ่งระบุว่า ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชี หรือ วิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประกอบการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

2. ความผิดเกี่ยวกับข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษามารยาทแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 หมวดที่ 3 ข้อที่ 9

ซึ่งระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ออกใบรับรองอันเป็นความเท็จโดยตั้งใจหรือให้ความเห็นโดย ไม่สุจริตในเรื่องใดเกี่ยวกับวิชาชีพของตน ซึ่งอาจถูกลงโทษถึงขั้น พักใช้ หรือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ



ประชาชนกับใบรับรองแพทย์

สำหรับประชาชนที่ให้แพทย์ออกใบรับรองให้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง และ นำใบรับรองนั้นไปใช้ ก็จะต้องมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 269 ด้วย (ผู้ใดทุจริต ใช้ หรืออ้างคำรับรองอันเกิดจากการกระทำผิด ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)



จะเห็นได้ว่าใบรับรองแพทย์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของกฎหมาย และการที่ผู้ป่วยจะขอใบรับรองแพทย์ก็ต้องคำนึงถึงว่าจะนำใบรับรองแพทย์ไปใช้เพื่ออะไร .. แพทย์จะได้ออกใบรับรองให้ถูกต้องกับการนำไปใช้มากที่สุด

ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งแพทย์และผู้ป่วยก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของความถูกต้องและเป็นจริง เพราะการออกใบรับรองแพทย์ที่เป็นเท็จก็มีความผิดทางกฎหมายทั้งแพทย์ และ ผู้ที่นำใบรับรองแพทย์นั้นไปใช้



กฎหมายที่ควรทราบเพิ่มเติม

1.1 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 177 ผู้ใดเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

1.2 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 279 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูก-กระทำร้าย ได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบสองปี อันตรายสาหัสคือ

1.ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือ เสีย ญาณประสาท

2.เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์

3.เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด

4.หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว

5.แท้งลูก

6.จิตพิการอย่างติดตัว

7.ทุพพลภาพ หรือป่วยเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต

8.ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียะกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=06-01-2008&group=4&gblog=5

ก๊อดอามี่บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี


แบ่งปัน
เวลาประมาณ 06.15 น.ของวันที่ 24 ม.ค.2543 ขณะที่หมอกลงหนาทึบ ความหนาวยังสัมผัสได้ ขณะที่นายพินิจ ม่วงมณี คนขับรถโดยสารสายสวนผึ้ง-ราชบุรี กำลังขับรถบัสโดยสารประจำทางออกจากที่จอด บ้านตะโกล่าง ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง เพื่อวิ่งรับผู้โดยสารเช่นปกติ กลับต้องหัวใจเต้นแรงลุ่มร้อนจนใจแทบระเบิด เมื่อมีกองกำลังก๊อดอามี่ประมาณ 10 คน อาวุธครบมือใช้อาวุธปืนจี้บังคับให้ไปส่งที่ราชบุรี

นายพินิจ เล่าว่า เมื่อออกจากรถท่ารถบ้านตะโกล่างได้ เดี๋ยวเดียว ถึงเนินเขาจะเข้บ้านห้วยสุต มีชายชุดพรางออกมาโบกรถให้หยุดเพื่อโดยสาร พอหยุดรถก็มีชายประมาณ 10 คนในชุดพรางเช่นกัน ขึ้นรถ และบังคับให้ขับรถไปจุดหมายปลายทางตามที่เขาต้องเขาเหล่านั้นจะสั่งการ ตลอดเส้นทางจากบ้านตะโกล่างถึงราชบุรี ผ่านด่านตรวจทุกจุดได้อย่างสะดวก ทั้งนี้เพราะโดยปกติ รถโดยสารเที่ยวเช้าเจ้าหน้าที่มักจะไม่เข้มงวด เนื่องจากเป็นที่ชาวบ้านเอาของไปขายตลาดและนักเรียนนักศึกษาเดินทางไปเรียนหนังสือ
ยึดโรงพยาบาลศุนย์ราชบุรี
เวลา 07.20 น.รถบัสโดยสารสายสวนผึ้ง-ราชบุรี สีน้ำทะเลคาดขาวได้ฝ่าด่านของโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีเข้าไปจอดสงบนิ่งหน้าตึกอำนวยการ กองกำลังก๊อดอามี่ (God'd Army) 10 นาย ในชุดพรางพร้อมอาวุธครบมือทั้ง เอ็ม 16 เอ็ม 79 และอาร์ก้าได้กระจายกำลังเข้าปฏิบัติการยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีไว้อย่างสันติปราศจากการขัดขวาง โดยวางระเบิดเคโมที่ประตูหน้าและหลังโรงพยาบาลดักกันการจู่โจมของเจ้าหน้าที่ หัวหน้าชุดชื่อ ปรีดาหรือ เบดา หรือ หนุ่ย พูดภาษาไทยได้ดี ได้ให้กองกำลังกวาดต้อนบคลากรทางการแพทย์และญาติผู้ป่วยเป็นตัวประกันไว้บริเวณตึกอำนวยการชั้น 2 ประมาณ 200 คน มีข้อเรียกร้องเบื้องต้น


  1. ให้ตำรวจวางกำลังห่างจากโรงพยาบาล 300 เมตร
  2. ขอข้าว น้ำ บุหรี่
  3. ขอโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง
ประมาณ 08.00 น.เศษ กองกำลังก๊อดอามี่ได้เดินทางสำรวจตึกผู้ป่วย มีเสียงปืนสงครามดังขึ้นในโรงพยาบาล 2-3 ชุด ซึ่งตอนบุกเข้ามาครั้งแรกได้ยิงไปหลายชุดแล้ว
ผู้อยู่ในเหตุการณ์ต่างโกลาหลทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล เสียงปืนยังคงดังเป็นระยะแต่ไม่ถี่นัก ผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร รายงานเหตุการณ์ถึงหน่วยเหนือถี่ยิบ
ผู้สื่อข่าวทะลักเข้าราชบุรีโดยไม่นัดหมาย ปลายปากกาจดลงบนกระดาษมิมีโอกาสเปิดมือ โทรศัพท์สายด่วนร้อนจี๋ เครื่องมือสื่อสารสับสนเพราะการใช้งานที่มีมากจนสัญญาณคลาดเคลื่อน หลายครั้งที่สัญญาณหายไปเฉยๆ ช่องสัญญาณขัดข้อง
ตำรวจปิดการจราจรถนนทุกสายที่มุ่งสู่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี บรรดาไทยมุงมากขึ้นเป็นลำดับ จังหวัดราชบุรีร่วมกับ กองทัพภาคที่ 1 ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมแก้ไขเหตุการณ์ขึ้นที่อาคารสามกีฬา จ.ราชบุรี ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกคนละฟากถนนกับโรงพยาบาลราชบุรี
ทุกฝ่ายยังคงรอเวลาและเตรียมการเจรจาจนประมาณ 11.00 น.เศษได้มีข้อเรียกร้องจากผู้ก่อการร้ายก๊อดอามี่ เสนอความต้องการ
  1. ทีมแพทย์และพยาบาลเข้าไปรักษากองกำลังกระเหรี่ยงที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบที่ชายแดนไทย-พม่า
  2. ให้เปิดชายแดนไทย เพื่อให้กองกำลังกะเหรี่ยงมี่ที่พักพิงในเขตไทย
เมื่อข้อเรียกร้องไม่ได้รับความสนใจ ผู้ก่อการร้ายได้ยิงปืนขึ้นฟ้าและยิงยางรถยนต์ 1 ชุด
ในขณะนั้นมีผู้ป่วยในโรงพยาบาลอยู่ประมาณ 580 คน เจ้าหน้าที่ 200 คน ไม่มีใครเข้า-ออกโรงพยาบาลได้ ผู้ป่วยที่จะมารักษาใหม่ในวันนั้น จังหวัดได้ประสานให้ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแม่และเด็กแทน ด้านทางการแพทย์ได้มีการประสานสั่งการให้โรงพยาบาลใกล้เคียงเตรียมพร้อมรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินและสำรองเสบียงอาหารให้กับคนไข้ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีด้วย
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่เวรดึก ซึ่งยังไม่ทันได้เปลี่ยนเวร และมีบางส่วนเป็นเจ้าหน้าที่อยู่เวรเช้าและมาทำงานเช้าเลยติดอยู่มนเหตุการณ์ด้วย
เตรียมพร้อม
จนใกล้เที่ยงวัน พล.ต.ท.วีระ วิสุทธิกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะได้เดินทางมาถึง ได้เข้าหารือกับเจ้าหนาที่ของทางจังหวัด ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้น กองกำลังที่เกี่ยวข้องเริ่มเข้าพื้นที่ ณ จุดนัดหมาย ชุดปิดล้อทโรงพยาบาล ชุดหน่วยอาวุธพิเศษ หน่วยนเรศวร 261 จาก ตชด.นำโดย พ.ต.ท.ปรีชา บุญสุข หน่วยคอมมานโด นำโดย พล.ต.ต.อัศวิน ขวัญเมือง หน่วยอรินทราช 26 นำโดย พล.ต.ต.ธวัชชัย พรหมประสิทธิ์ และกองกำลังทหารพร้อมเจ้าหน้าที่ สห. นำโดย พล.ท.ทวีป สุวรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ 1 ทุกหน่วยงานเริ่ปฏิบัติงานไปตามภารกิจที่ผู้บังคับหน่วยได้รับคำสั่งจากศูนย์อำนวยการร่วมแก้ไขเหตุการ
11.30 น.พลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะประกอบด้วย พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ผบ.ทบ. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผบ.ตร. ได้มาถึงศูนย์อำนวยการร่วมแก้ไขเหตุการณ์ โดยแจ้งว่านายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ได้มีบัญชามอบหมายให้ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ผบ.ทบ.เป็นผู้บัญชาการแก้ไขเหตุการณ์ ผบ.ตร.เป็นรอง พล.ต.ท.วีระ วิสุทธิกุล และ พล.ท.ทวีป สุวรรณสิงห์ เป็นผู้ช่วย ในช่วงเวลาดังกล่าว นายกร ทัพพะรังษี รมว.สธ. และคณะของกระทรวงสาธารณสุขได้เดินทางมาร่วมสมทบ มีการประชุมหารือแนวทางแก้ปัญหาให้คลี่คลายในทางที่ดีและโดยเร็วภายใต้หลักการที่ว่า "ผู้ถูกกักกันเป็นตัวประกันต้องปลอดภัยและเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด"
ศูนย์อำนวยการร่วมฯ ได้จัดให้มีชุดเจรจาต่อรอง ได้เริ่มเจรจาต่อรองอย่างเป็นทางการประมาณ 11.00 น.โดยใช้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือสื่อสาร
ผู้ก่อการได้มีหนังสือเรียกร้อง 5 ข้อ คือ
  1. ขอร้องให้ฝ่ายรัฐบาลไทย ทหารไทยหยุดยิงผู้อพยพชายแดน เช่น กะเหรี่ยง มอญ พม่า ซึ่งขณะนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 200-300 คนแล้ว ที่ทั้งเด็ก ผู้หญิง และไม่ใช่ทหาร
  2. ขอร้องให้ทหารไทยหยุดช่วยเหลือทหารพม่า โดยหยุดช่วยเหลือด้านนำกำลังเข้ามาทางเขตไทย หยุดยิงจากเขตชายอดนไทย หยุดการฆ่า ข่มขืน พวกอพยพ
  3. ขอร้องให้รัฐบาลไทยทำการช่วยเหลือผู้อพยพ โดยให้นำผู้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตไทย เนื่องจากผู้อพยพไม่มีอาหารประทังชีวิต ขอให้ช่วยเหลือด้านอาหารโดยด่วน และเต็มที่
  4. ขอร้องให้รัฐบาลไทย และ UN ประชุมปรึกษากัน และกดดันรัฐบาลพม่าให้รัฐบาลพม่ายอมรับและช่วยเหลือผู้อพยพให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
  5. ให้รัฐบาลไทยทำการดำเนินคดีลงโทษ หัวหน้าทหารไทย ซึ่งเป็นผู้สั่งให้ยิงผู้อพยพ
สรุปท้าย ขอร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามข้อเรียกร้องโดยด่วน ถ้าไม่ดำเนินการโดยเร็วทางฝ่ายก๊อกอามี่ ไม่รับรองว่าจะเกิดเหตุร้ายอะไรขึ้นบ้างและเหตุการณ์จะลุกลามมากไปกว่านี้
การดำเนินการเบื้องต้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉุกเฉิน การแก้ไขปัญหาระยะแคบต้องเร่งรัดอย่างมีประสิทธิภาพ เฉียบพลันดุดันและเด็ดขาด จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการในเบื้องต้นดังนี้ :
  • จัดการให้มีการรักษาความปลอดภัยสถานพยาบาลทุกหน่วย โรงงานผลิตอาวุธ โรงไฟฟ้า สถานที่ราชการ สถานที่สำคัญ
  • สั่งปิดโรงเรียนในเขตเทศบาลทุกแห่ง
  • ตั้งจุดสกัด จุดตรวจ ด่าน ในทุกพื้นที่เข้มงวด
  • ควบคุมนักศึกษาพม่าในศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ไม่ให้ออกนอกศูนย์อย่างเด็ดขาด
  • จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วฉุกเฉิน
  • จัดชุดสื่อสาร
  • จัดชุดซ่อม/แก้ไขการสื่อสาร/ไฟฟ้า และประปา
  • จัดชุดดูแลเสบียงอาหาร
  • จัดชุดบรรเทาสาธารณภัย
  • จัดชุดพยาบาลสนาม
  • จัดศูนย์แถลงข่าว
  • เตรียมโฆษกผู้แถลงข่าว
  • เตรียมไฟฟ้าสำรอง
  • จัดหน่วยซักถาม
  • ติดตั้งระบบสื่อสาร
  • จัดเตรียมห้องประชุมวางแผน
  • จัดหน่วยกู้ภัย/เจ้าหน้าที่กู้ภัย
  • ประสานหน่วยข้างเคียงทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และการประสานรายงาน
ร้องของแถลงข่าวเวลประมาณ 13.00 น. พล.ท.ทวีป สุวรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นโฆษกศูน์อำนวยการร่วมฯ แถลงข่าวโดยสรุปข้อเรียกร้องของผู้ก่อการและแนวทางการดำเนินการของฝ่ายเรา หลังจากนั้นฝ่ายก่อการได้มีหนังสือเรียกร้องฉบับที่ 2 เพิ่มอีก 3 ข้อ คือ
  1. ขอให้นักข่าว เข้าไปทำข่าว
  2. แถลงการณ์ที่ให้ไปออกทีวีทุกช่อง
  3. ขอแพทย์ พยาบาลด่วน
เริ่มปล่อยตัวประกัน14.00 น.ผู้ก่อการได้ปล่อยตัวประกันออกมาประมาณ 30 คน เป็นเด็ก ผู้หญิงสูงอายุ เพื่อแลกกับอาหาร ใช่วงนี้ได้มีผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่บางคน ได้หลบหนีออกมาด้วย ซึ่งฝ่ายบรรเทาสาธารณภัย ได้นำผู้ป่วยส่งไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลแม่และเด็ก
ในช่วงนี้จะมีการรายงานข่าวให้หน่วยเหนือทราบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
การเจรจาต่อรองยังมีไปต่อเนื่อง เช่นกัน โดยผลัดเปลี่นหมุนเวียนกันไปมีทั้งชายและหญิง
กลุ่มผู้ก่อการของร้องให้ทุกคนถอยห่างรัศมีโรงพยาบาล 300 เมตร
ผู้ก่อการได้ร้องขออาหาร 15 กล่อง(ไม่มีหมู) ขอบุหรี่ 10 ซอง ขอวิทยุมือถือ ยี่ห้อ ไอคอม รุ่น 2 จี 3 เครื่อง ขอพบนาย ซอ โต โต กะเหรี่ยงที่พักอยู่ในศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย และขอพบ นายสะ แค กลุ่มก๊อดอามี่ ที่ทหารไทยจับเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา
จังหวัดได้อนุญาตให้นำตัว นายซอ โต โต จากศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอยมาพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายแผนไทย โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ซักถามนายซอ โต โต ถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มก่อการร้ายกับนายซอ โต โต
แท้จริงนายซอ โต โต เคยเป็นสมาชิกกองกำลังก๊อดอามี่ แต่ถูกขับไล่ออกมาเพราะมีปัญหาขัดแย้งกัน ตอนหลัง นายซอ โต โต กลับใจวางมือจากการสู้รบ อยากไปตั้งถิ่นฐานประเทศที่สาม จึงขอเข้ารายงานตับกับ UNHCR อยู่ในศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย รอการเดินทางไปประเทศที่สาม
สืบสภาพเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเริ่มสืบสภาพทั้งภายนอกและภายในโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี โดยพลางตนปะปนไปกับเจ้าหน้าที่ ประชาชน และผู้ป่วย ใช่วงที่มีการเจรจาและปล่อยตัวประกัน อาคารทุกแห่งในโรงพยาบาล มุมอับ มุมแคบ ผังอาคาร สถานที่ แบบแปลนการก่อสร้างนำมาใช้การอีกครั้งหนึ่ง ชุดปฏิบัติการอยู่ ณ จุดที่กำหนด หารายละเอียดให้มากที่สุดก่อนจะนำมาประมวลเป็นแผนการปฏิบัติการ หากยังยืดเยื้อต่อไป และโอกาสอำนวย
พ.ต.อ.ปรีชา ธิมามนตรี หัวหน้าชุดเจรจาต่อรอง และคุณเอกพงศ์ หริมเจริญ เจ้าหน้าที่เจรจาต่อรอง จากสภาความมั่นคงดูจะมีงานหนักต้องวิ่งรอกจากโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี กับศูนย์อำนวยการข่าวร่วมฯ ทีมเจรจาต่อรองถูกฝึกอบรมมาอย่างดีเยี่ยม คุมอารมณ์ได้ดี นุ่มนวล แนบเนียน ใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว ใช้น้ำเย็นคอยลูบไล้ ไล่ความร้อนคู่อริ ให้จางลงไว้ใจและตายใจ
ในขณะที่ศูนย์ปฎิบัติการหลากหลายที่นำกำลังเข้าสมทบ เคลื่อนพลเข้าพื้นที่เป้าหมายอย่างสงบเงียบนิ่ง สงัดจนหนาว
การแลกเปลี่ยนอาหารกับตัวประกัน การนำอาหารเข้าไปส่งโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเรานำเข้าไปภายใต้ความยินยอมของฝ่ายก่อการ เป็นเสี้ยววินาทีที่มีค่า ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการแก้ไขสถานการณ์ และต่อชาติ
16.00 น. มีคนไข้และเจ้าหน้าที่ หนีออกมาได้อีกประมาณ 50 คน โดยออกมาที่ช่องทางหนีไฟ และด้านหลังโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยได้นำรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลแม่และเด็กต่อไป
ระบบโทรศัพท์ในโรงพยาบาลถูกตัดขาด การเจรจาต่อรองหยุดชะงักไประยะหนึ่ง สุดท้ายฝ่ายต่อรองต้องเข้าไปใช้เครื่องโทรศัพท์ภายในของโรงพยาบาลที่ศาลาเอนกประสงค์ การเจาจาจึงลื่นไหลต่อไป
ยิ่งเย็นอากาศเริ่มแปรปรวน อบอ้าวมาทั้งวัน ความเครียดไม่ปราณีใครทุกคนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายก่อการและฝ่ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของไทยต้องเคร่งเครียด ต้องคุมเชิงเดินเกมอย่างสุขุม
ใกล้ค่ำสถานการณ์เริ่มเปลี่นแปลง ผู้ก่อการร้ายขอเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ เพื่อนำคณะผู้ก่อการร้ายไปส่งชายแดน เมื่อฝ่ายเจรจาซักถามให้ไปส่งที่ใด ผู้ก่อการร้ายตอบไม่ได้ สับสน กังวล ไม่แน่ใจในความปลอดภัย ตอบเพียงว่าขอให้ไปส่งแนวชายแดนพืนที่ของกะเหรี่ยงก๊อดอามี่
การต่อร้องให้ใช้รถยนต์ไปแทน จึงไม่มีข้อยุติ
รบกับสื่องานอย่างนี้มีหรือสื่อมวลชนจะพลาด ทุกสื่อเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ชิดจนลมหายใจรดต้นคอ ได้กลิ่นเหงื่อและสัมพันธ์ลมหายใยซึ่งกันและกัน
เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกต่อว่าจนหน้าจ๋อยไปตามๆ กัน ให้ สห.เข้าไปสู้ก็ถอยกลับมาตามเคย ดูคล้ายกับว่า พวกคุณเธอเหล่านี้จะไปดำเนินการแก้ไขปัญหาซะเองเช่นนั้น ไปทางไหนมีแต่สื่อมวลลชน ดูเกะกะไปหมด ทั้งๆ ที่เตือนหลายครั้ง ผู้ก่อการแจ้งออกมาให้ออกจากรัศมีพื้นที่เป้าหมาย 300 เมตร ก็ยังไม่ฟัง บางคนสอดแทรกตัวเข้าไปภายในโรงพยาบาลจนถูกเจ้าหน้าที่นำตัวออกมา มีการต่อว่ากันนิดหน่อย เขาคิดอย่างสื่อคิด ในขณะที่คนทำงานเขาคิดอย่างคนทำงานคิด ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตคนที่เป็นตัวประกัน ชื่อเสียงของประเทศและความเป็นชาติ ขณะที่สื่อต้องการ ภาพ ต้องการความจริงนำเสนอเผยแพร่ให้เร็วที่สุดชิงไหวชิงพริบกัน
สื่อที่สำคัญ คือ ทีวี มีรายงานภาพเหตุการณ์ทุกระยะ คนในโรงพยาบาลก็ดู คนภายนอกก็ดู มีตอนหนึ่งที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องดำเนินการเด็ดขาดกับผู้ก่อการ คนที่ถูกกักเป็นตัวประกันได้มาเล่าให้ฟังภายหลังว่า พอได้ยินดังนั้น เขาเห็นนายปรีดา น้ำตาคลอ และร้องไห้ พูดขึ้นมาลอยๆ ว่า"คราวนี้เห็นทีจะไม่รอด"
18.30 น.ผู้ก่อการย้ายระเบิดเคโมจากประตูหน้าโรงพยาบาลไปอยู่ด้านในโรงพยาบาลและขอเสาวิทยุ การเจรจาต่อรองยังคงดำเนินต่อไป
19.00 น.ความมืดคือภัยร้ายที่น่ากลัว กำลังคืบคลานเข้ามา ทุกอย่างยังนิ่งสงบ อากาศเย็นลง ใจคนทำงานไม่ได้เย็นลงเลย คณะต่อรองยังคงทำงานหนักกันต่อไป มีข้อเสนอเพื่อให้ผู้ก่อการมอบตัวเพื่อขึ้นศาลไทย และอาจลี้ภัยไปประเทศที่สาม แต่ไม่มีการตอบรับ ไม่มีข้อยุติ
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีนายชวน หลีกภัย ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผบ.ตร.และข้าราชการนายทหารระดับผู้ใหญ่ ได้มาตั้งกองบัญชาการสั่งการที่กรมการทหารช่าง ทั้งหมดได้หารือกันอย่างเคร่งครัด ดึกสงัดก่อนเดินทางกลับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายยุติปัญหาให้เสร็จในคืนนั้นให้ได้ อย่าให้ยืดเยื้อถึงรุ่งเช้าเด็ดขาด
ห้วงนั้นมีเฮลิคอปเตอร์บินผ่านมา ผู้ก่อการคงคิดว่าทางการไทยจะยอมให้เฮลิคอปเตอร์นำส่งชายแดน จึงไม่ยอมมอบตัว แท้จริงเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่บินมาส่ง ฯพณฯ รอง นรม. และ รมว.มท. ผบ.ตร. และ ผบ.ทบ.
21.30 น.เศษ ผู้ก่อการร้องขออยากกลับบ้าน ขอวิทยุไอคอม รุ่น 725 ด่วน ตัวประกันได้รับการปล่อยตัวออกมาอีกชุดหนึ่ง ผู้ที่เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดในการรับตัวประกัน กลับมารายงานว่า ผู้ก่อการร้ายเริ่มอ่อนล้า พูดจาวกวน
23.30 น.ผู้ก่อการของดเจรจาจะพักผ่อน
ความดึกสงัดแห่งรติกาล ลมหนาวเย็นยังคงโชยแผ่วเบา คนไข้หลายคนหลับด้วยอ่อนเพลีย นักรบผู้มาเยือนบางคนพักผ่อน บางคนเฝ้าระวังภัย ผู้อยู่ภายนอกอาคารโรงพยาบาลยังเฝ้ารอ ความสัมพันธ์ พ่อ แม่ ลูก เครือญาติ ความห่วงหาอาทรในยามวิกฤต เช่นนี้ มีให้เต็มกระแสแห่งน้ำใจ สายใยใดเลยจะเหนียวแน่นไปกว่าสายใยแห่งความรัก ความผูกพันธ์ ลูกรอแม่..แม่รอลูก..ที่เป็นพยาบาลติดเป็นตัวประกันอยู่กับก๊อดอามี่ ความกระวนกระวาย ใจที่รุ่มร้อนกังวล น้ำตาหยดเป็นระยะ คงรอ และรอต่อไป
ผ่านพ้นถึงวันใหม่ 01.30 น. วันที่ 25 มกราคม 2543 ผู้ก่อการร้องขอเครื่องดื่มโค๊ก เป็บซี่ 20 กระป๋อง ขอเฮลิคอปเตอร์กลับบ้าน เจ้าหน้าที่ได้นำวิทยุไอคอมไปส่งให้ แต่การติดต่อที่หมายไม่ได้ผล ผู้ก่อการมีลักษณะวิตกกังวลมากขึ้น
คนป่วยหลายรายที่ต้องการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน เด็กชายต้องผ่าตัดสมอง หญิงจะคลอดบุตร ผู้ป่วยสำคัญถูกลำเลียงส่งออกมาจากโณงพยาบาลศูนย์ราชบุรี แล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลข้างเคียงเพื่อรักษาพยาบาลโดยด่วน ขณะที่มีผู้ป่วยอีกหลายคนยังคงนอนซม
นอนซมด้วยพิษไข้ยังพอทน แต่ต้องนั่งเบิกตาด้วยจิตใจที่ไม่ปกติ กลัวภัยตระหนกถึงเหตุร้าย ใจจะขาดตายเสียเดี๋ยวนั้นให้ได้ แล้วใครจะปิดเปลืกตาลงได้สนิท ณ เวลานั้น
ผู้สูงอายุบางคนบอกว่า ผู้ก่อการนั้นเขาดีนะ สุภาพ มีสัมมาคารวะ "เขายังป้อนข้าวให้ยายเลย" เขาบอกว่า ยายอย่ากลัวนะ ผมไม่ทำอะไรหรอก พวกผมเดือดร้อนมากจึงต้องทำอย่างนี้ คนชื่อหนุ่ย บอกยายว่าอย่างนั้น บรรดาแม่ยกทั้งหลายแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ก่อการ "สงสารเขานะ แต่เขาไม่น่าจะทำอย่างนี้"
พลซุ่มยิงทุกชุด ถูกสั่งเตรียมพร้อม รอรับคำสั่งปฏิบัติการ ศูนย์อำนวยการเหตุการณ์ยังสาละวันกับการสื่อสารและรายงาน การเจรจาต่อรองอืดอาดประวิงเวลา สาระลดลง ผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการบัญชาการเหตุการณ์แยกตัวไปประชุมลับเฉพาะ และพบปะมอบภาระกิจให้กำลังใจ นักรบไทยที่จะจู่โจมชิงตัวประกัน
วันกองทัพไทย25 มกราคม วันกองทัพไทย ทุกปีมีการเดินสวนสนามประกาศความยิ่งใหญ่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราช ทรงเป็นนักรบผู้กล้าหาญ นักรบผู้ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะสมรภูมิที่สู้รบกับพม่า พระองค์ประสบชัยชนะอย่างสง่างามและเด็ดขาด
ณ เวลานี้ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีถูกกะเหรี่ยง ก๊อดอามี่แห่งประเทศพม่ายึด อะไรจะเกิดขึ้นกับวันกองทัพไทย เสียงที่เปล่งสดุดีจะแหบพล่า การเดินสวนสนามจะฮึกเหิมได้อย่างไร หากสถานการณ์ยังคลุมเครือเช่นนี้
ผบ.ทบ.พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ในทุกสนามรบ ยอมไม่ได้เด็ดขาด ชาติอยู่เหนืออื่นใด จะปล่อยให้ก๊อดอามี่กองกำลังกะเหรี่ยงลูบคมหยามศักดิ์ศรีทหารไทย คนไทย สองครั้งสองคราได้อย่างไร (ครั้งหนึ่งเมื่อ 1 ต.ค.2542 ยึดสถานฑูตพม่าในไทย)
แผนเผด็จศึกถูกจัดวางอย่างรอบคอบรัดกุม ไม่มีผู้ใดรู้ล่วงหน้าเลยเพียงแต่กำชับให้ทุกหน่วยต้องพร้อมปฏิบัติเมื่อมีคำสั่งเท่านั้น
พร้อมปฏิบัติได้เมื่อสั่ง เพียงคำนี้ทุกหน่วยรบรู้เองว่าจะปฏิบัติอย่างไร และอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป การซักซ้อม ประสานการปฏิบัติหน่วยต่อหน่วย ซ้อมครั้งแล้วครั้งเล่า ซ้ำซาก กำหนดทิศทางต้องลงตัวเสมอ ผิดแม้แต่องศาเดียวหมายถึง ชีวิตตัวประกัน ชีวิตตนเอง ชื่อเสียงประเทศชาติ เกียรติภูมินักรบไทย
มดดำที่หมาย 03.00 น.
ทุกอย่างลงตัว การคืบคลานเข้าสู่เป้าหมายเริ่มขึ้น สงบเงียบ หนาว สะดุดบางครั้ง ราบรื่นบางคราว ลัดเลาะตามหลืบแหล่งม่านมืดเข้าไป ตัวเล็และลีบหลบซ่อนคืบคลานบนหังคา กันสาด ฝูงมดดำ ไต่ยั๊วเยี๊ยะ เงียบ สงัด
สุนัขกรรโชกข้างโรงพยาบาล ทุกคนสดุ้ง ผู้ก่อการระวังตัวแจ แม้จะออกมาดูรอบอาคารแล้ว ด้วยความอ่อนล้ามาทั้งวัน ก็ต้องการพักผ่อนเช่นปุถุชนธรรมดา
มดดำไม่ชอบเสียงสุนัขเห่า ถอยร่นมาตั้งหลักใหม่
03.30 น.ต้องราวีกับสื่อมวลชนอีกรอบ การขอร้องด้วยสุภาพ โดย พล.ต.ต.ฉลอง สนใจ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ราชบุรี พ.ต.อ.ศักดิ์ชัย ตันบุญเอก ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี พ.อ.ทวีวัฒน์ บูรณสิงห์ (เสธ.ตั้ม) แห่ง จทบ.ราชบุรี ผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนทุกแขนงยอมถอยห่างจากรัศมีโรงพยาบาลตอนค่อนรุ่ง
คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วละ ค่อยว่ากันใหม่พรุ่งนี้นะ หลายคนอยากหลับซักงีบ นั่ง พิง นอน เหยียดแข้งเหยียดขาตามสบาย
บึ๊ม! บึ๊ม! เสียงสตั้นบอมส์ 2 ลูกซ้อน ดังสนั่นปลุกคนราชบุรี ทั้งจังหวัดให้ลุกหุงข้าวใส่บาตรพระในวันกองทัพไทย เพื่อจะได้อุทิศผลบุญกุศลให้นักรบผู้กล้าของไทย ที่เคยรบกับพม่าในสงครามเก้าทัพ และที่บ้านบางแก้ว จ.ราชบุรี สื่อมวลชนพุ่งตัวเข้าหาที่หมายขอภาพงามๆ ออกอวดสายตาชาวโลก ขอรางวัลภาพข่าวเด่นสักครั้งเถอะน่า
ทะลวงฟันสยบเหยื่อการจู่โจมปฏิบัติการเริ่มขึ้นเมื่อ 05.35 น.เสียงปืนรัวถี่ยิบ สตั้น บอมส์ ดังขั้นจังหวะ แผ่นดินสะเทือนไหว พระสยามเทวาธิราชเจ้าเอาใจช่วย หลายคนใจหาย จะเสียหายสักเท่าไร จะสูญเสียเลือดเนื้อเท่าใด ที่สำคัญ ตัวประกันต้องปลอดภัย
เสียงสั่งการของผู้บัญชาการหน่วยจู่โจมดังติดต่อไม่ขาดระยะ ไหลๆๆๆๆ...อย่าหยุด ต่อไปๆๆๆ
คาวเลือด น้ำตา เสียงกรี๊ดร้องด้วยตระหนก ผสมเสียงคำรามของมัจจุราชจากปลายกระบอกปืน เสียงขู่กรรโชกอย่างโหดร้ายของสตั้น บอมส์ ระเบิดเสียงกระชากจืตใจที่อ่อนบางของผู้คนให้หวาดหวิว
คนป่วย คนชรา เด็ก หญิง ผู้อ่อนแอ เสียงอาวุธสงครามดังก้องทั่วราชบุรี กังวานไปอีกนานนับนานไม่มีวันจางหาย
06.15 น. เสียงปืนนัดสุดท้ายสิ้นลง จบด้วยสตั้นบอมส์สั่งลา เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นค้นหาผู้จะหลบหนี โฉบเฉี่ยวดุจพญาเหยี่ยวโฉบเหยื่อหลายต่อหลายรอบแล้วลงสงบนิ่ง
07.00 น. พล.ท.ทวีป สุวรรณสิงห์ แถลงข่าวปิดสถานการณ์ ผู้ก่อการร้าย 10 คน ถูกสังหารจบชีวิตทั้งหมด เป็นของขวัญวันกองทัพไทย ตัวประกันทุกคนปลอดภัย ฝ่ายเรามีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 8 นาย
ตรวจสมรภูมิ
หลังสิ้นเยงปืนและรับมอบพื้นที่จากฝ่าบปฏิบัติการจู่โจม ศูนย์อำนวยการแก้ไขเหตุการณ์แล้ว แพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีได้เข้าทำการรักษาพยาบาลผู้ป่วยประจำตึกต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยมีคณะแพทย์ พยาบาลของโรงพยาบาลจากอำเภอมนพื้นที่ราชบุรี และจังหวัดข้างเคียงให้การสนับสนุนในการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดด้วย
จากการตรวจพิสูจน์สถานที่ภายในโรงพยาบาลโดยรอบ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองพบความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากแรงอัดของระเบิด และคมกระสุนปืน กระจก ผนัง ประตู หน้าต่าง อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนเครื่องอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ เครื่องช่วยผู้ป่วย เครื่องำนวยความสะดวกญาติผู้ป่วย เป็นต้น ทุกอาคารเจ้าหน้าที่ได้ตรวจอย่างละเอียดเริ่มตั้งแต่ตึกกาญจนาภิเษก ซึ่งสูง 7 ชั้น ตึกเจ้าฟ้ามหาจักรี ตึกเอ็กซเรย์ ตึกเมตตาเรื่อยมาถึงตึกอำนวยการ ซึ่งเป็นศูนย์รวมเหตุการณ์แต่แรก
สิ่งที่พบเป็นหลักฐานเหลือไว้เป็นรูปธรรมให้เห็น
  1. ศพผู้ก่อการ จำนวน 10 ศพ
  2. ซองกระสุนปืน เอ็ม 16 จำนวน 8 ซอง
  3. ซองกระสุนปืนอาร์ก้า จำนวน 3 ซอง
  4. ซองกระสุนคาร์บิน จำนวน 1 ซอง
  5. อาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 7 กระบอก
  6. อาวุธปืนขนาด 9 ม.ม. จำนวน 1 กระบอก
  7. อาวุธปืนอาร์ก้า จำนวน 2 กระบอก
  8. กระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 400 นัด
  9. กระสุนปืนอาร์ก้า จำนวน 300 นัด
  10. กระสุนปืนลูกซอง จำนวน 12 นัด
  11. ลูกระเบิดขว้างเอ็ม 67 จำนวน 8 ลูก
  12. ลูกระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 8 ลูก
  13. ชนวนฝักแคพร้อมเชื้อประทุ จำนวน 7 เส้น
  14. ทุ่นระเบิดเอ็ม 18 เอ (เคโม) จำนวน 1 ทุน
นอกจากนั้น เป็นอุปกรณ์สนามที่ใช้ในสนามรบ เช่น กระติกสนาม เข็มขัดสนาม รองเท้าคอมแบท หมวก ชุดลายพราง แชลง กรรไกรตัดเหล็ก และเอกสาร ภาษากะเหรี่ยง พม่าอีกจำนวนหนึ่ง
หลังเหตุการณ์จังหวัดได้จัดทำแผนแม่กลองร่มเย็นรองรับการจัดตั้งศูนย์อำนวยการข่าวร่วม พลเรือน ตำรวจ ทหาร ประสานการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยทุก อำเภอ/กิ่งอำเภอ มีการจัดตั้งศูนย์รองรับในลักษณะเดียวกัน ระดมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั้ง ตำรวจ ทหาร พลเรือน อาสาสมัคร อป.พร. มวลชนทุกประเภท ร่วมมือปฏิบัติให้แผนแม่กลองร่มเย็นบรรลุเป้าหมาย
รุ่นก๊อดอามี่ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ และคณะมาจับมือแสดงความยินดีกับ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ผบ.ทบ.ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ถึงผลสำเร็จในการปฏิบัติงานก่อนที่คณะทุกท่านจะเดินทางกลับท่ตั้งหน่วยปกติ ปิดสถานการณ์
บุคคลที่มีส่วนร่วมควรเรียกว่ารุ่น ก๊อดอามี่
  • นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี
  • พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฎฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  • พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก
  • พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • พล.ท.ทวีป สุวรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ 1
  • พล.ท.อาภรณ์ กุลพงษ์ เจ้ากรมการทหารช่าง
  • พล.ต.ท.อนันต์ เหมาทานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจภาค 7
  • นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
  • นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ เลขาธิการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ
  • พล.ต.สัญชัย รัชตะวรรณ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9
  • นายโกเมศ แดงทองดี ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
  • นายนิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
  • นายเรืองบุญ สิริธรังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
  • นายปรีชา เรืองจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
  • นายเฟื่อง สังข์ปาน ปลัดจังหวัดราชบุรี
  • พล.ต.ต.ฉลอง สนใจ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี
  • พ.อ.อมรเทพ ศศิวรรณพงษ์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกราชบุรี
  • น.พ.สุพรรณ ศรีธรรมมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี
  • น.พ.มงคล จิตวัฒนากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี
  • นายบัญชา พิมพ์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการการกีฬาแห่งประเทศไทย จ.ราชบุรี
  • หัวหน้าส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจ นักการเมือง พ่อค้า เอกชน
  • ประชาชนที่อยู่อาศัยในราชบุรี ปี 2543 ในวันที่เกิดเหตุการณ์ 24-25 มกราคม 2543 หากอยู่ในราชบุรีถือว่าทุกท่านเป็นคนราชบุรี รุ่นก๊อดอามี่ ทั้งหมดเลยดีมั๊ย
ก๊อดอามี่ส่งราชบุรีลอยลมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการโปรโมทจังหวัดราชบุรี โดยไม่ต้องเสียงบประมาณด้านประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด เป็นการรับรู้ทั่วโลกในคราวเดียวกัน ราชบุรีจึงลอยลม แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาไม่รู้เท่าไหร่ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ต้องหางบประมาณซ่อมแซมส่วนที่เสียหายไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท
สภาพจิตใจที่เป็นภาพหลอนตลอดชีวิตคิดประเมินไม่ได้ เศรษฐกิจที่พังย่อยยับไปกับเสียงปืนแตกที่ราชบุรี การท่องเที่ยวเหี่ยวแห้งตายสนิท เศรษฐกิจที่พังย่อยยับ สถานีผู้โดยสารเงียบเหงา ตลาดน้ำว่างเปล่า ถ้ำเขาช่องพรานเหลือแต่ค้างคาวไร้คนดู น้ำตกสวนผึ้งยังคงรอคนไปเยือน ราชินีตะวันตก ใกล้สิ้นชีพ
จังหวัดมีงานหนักต้องฟื้นฟู มือประสานสิบทิศ เช่น นายโกเมศ แดงทองดี ผู้เป็นเจ้าเมืองปลุกราชบุรีให้น่าภิรมย์อีกครั้ง โครงการต่างๆ พรั่งพรูจากสมอง แรลลี่สายน้ำไหลกลับรับวันวาเลนไทน์ที่ชายแดนอำเภอสวนผึ้ง วันนี้มีคำตอบ ผู้ว่า/ทหารพบชาวบ้านยามเย็น ปลอบขวัญประชาชนทุกคุ้มคามโดยเฉพาะแนวชายแดนและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ทำบุญสะเดาะเคราะห์โรงพยาบาล โครงการแม่พิมพ์ร้อยใจต้านภัยก่อการร้ายก๊อดอามี่
งานเที่ยวราชบุรีปี 2000 ระหว่างวันที่ 19-21 ก.พ.2543 ปลุกวิญญาณคนราชบุรีให้ลุกสู้ภัยก่อการร้ายก๊อดอามี่ได้อย่างเห็นผลชัดเจน ผู้คนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ต่างประเทศมาเที่ยวชมของดีเมืองราชบุรี เที่ยวราชบุรีปี 2000 อย่างอุ่นหนาจนเนืองแน่น ภาพลบกลับมาเสมอตัว และจะต้องเป็นบวกต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้
ขอบคุณก๊อดอามี่ ปลุกราชบุรีดังก้องโลก
ที่มา : ปรีชา เรืองจันทร์. (2543). ก๊อดอามี่ มณีลอย ปลุกราชบุรีเขย่าโลก. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.


http://rb-story.blogspot.com/2009/11/blog-post_09.html