"วิสัยทัศน์" เป็นหน่วยงานเวชระเบียนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์ความรู้ด้านบริการและวิชาการที่ได้มาตรฐาน

เพิ่มจุดบริการลงทะเบียนจ่ายตรง เริ่ม 1 มีนาคม 2555

  • เคาน์เตอร์ห้องบัตร ช่องบริการที่ 8 (ตรงข้ามห้องเบอร์ 29) ให้บริการเวลา 07.30-15.30 น.(หยุดพักเที่ยง)
  • สนง.เวชระเบียน ห้องเบอร์ 4 ให้บริการเวลา 07.30-16.30 น. (ไม่หยุดพักเที่ยง)

เวชระเบียน เป็นของใคร

วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์, พ.บ.
ภาควิชานิติเวชศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, มหาวิทยาลัยมหิดล, กรุงเทพมหานคร ๑๐๗๐๐

ได้มีการอ้างสิทธิในเวชระเบียนอย่างมากมายในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเองก็อ้างว่าตนเองเป็นเจ้าของสิทธิในเวชระเบียนเพราะว่าเป็นประวัติการป่วยเจ็บหรือการรับการดำเนินการทางการแพทย์ของตนเอง ส่วนสถานพยาบาลก็อ้างเช่นเดียวกันว่าเวชระเบียนต้องเป็นของสถานพยาบาลทั้งในภาครัฐและในภาคเอกชนเพราะเป็นผู้จัดทำเวชระเบียนตั้งแต่จัดหาวัสดุอุปกรณ์จนกระทั่งบุคลากรที่เป็นผู้บันทึกล้วนแต่เป็นผู้ที่อยู่ภายใต้การมอบหมายงานของสถานพยาบาลทั้งสิ้น ในเรื่องนี้นั้นผู้รู้หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเวชระเบียนบางท่านเคยให้ความเห็นว่า "ตัววัตถุเช่นกระดาษที่ใช้บันทึกนั้นเป็นของสถานพยาบาล ส่วนเนื้อหาในวัตถุนั้นเป็นของผู้ป่วย" เมื่อฟังดูแล้วยิ่งเป็นที่น่าสงสัยอย่างมากว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงจะบริหารจัดการเวชระเบียนได้อย่างไร จะทำอย่างไรถ้าเจ้าของเนื้อหาในเวชระเบียนมาขอเนื้อหาแต่ไม่เอากระดาษที่บันทึก หรือถ้าจะใช้การถ่ายเช่น การถ่ายภาพ หรือการถ่ายสำเนาจะถูกต้องหรือไม่

เวชระเบียนเรื่องที่สำคัญยิ่งในทางการแพทย์คือประวัติของผู้ป่วยที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "เวชระเบียน" นั้นจัดทำขึ้นโดยฝ่ายสถานพยาบาลซึ่งอาจเป็นผู้บริหารสถานพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์นั่นเอง จึงต้องเข้าใจว่าเวชระเบียนคืออะไรหรือประกอบด้วยอะไรบ้างเสียก่อน ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีการให้ความหมายไว้แม้ว่าจะไม่โดยตรงก็เป็นโดยอ้อม เช่น ความหมายของเวชระเบียนที่แพทยสภาได้ให้ไว้ แม้ว่าต่อมาจะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม หรือเป็นไปตามความหมายอื่น เช่น เวชระเบียน หมายถึง "รายงานคนไข้" หรือ เวชระเบียน หมายถึง "เอกสารเรื่องราวเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของผู้ป่วยซึ่งแพทย์ทำขึ้นไว้ประกอบการรักษาผู้ป่วย ได้แก่เอกสารดังต่อไปนี้ ๑) บัตรตรวจโรคภายนอก ๒) รายงานผู้ป่วยภายใน ดังนั้นเวชระเบียนจึงเป็นเอกสารหลายรายการรวมกันเป็นแฟ้ม หรือเป็นเล่มรวมเอกสารหลายๆแผ่นเข้าด้วยกัน ซึ่งมีความสำคัญทางกฎหมายข้อสงสัยในเรื่องเวชระเบียน
ข้อสงสัยในเรื่องเวชระเบียนเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการที่จะได้เวชระเบียนมาครอบครอง สิทธิที่จะทราบถึงข้อมูลในเวชระเบียนเป็นเรื่องที่เกิดการโต้แย้งกันอย่างมาก โดยเฉพาะการโต้แย้งระหว่าง "ฝ่ายสถานพยาบาล" (โรงพยาบาล) หรือ "ฝ่ายแพทย์" (แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์) กับ "ฝ่ายผู้ป่วย" หรือ "ผู้มารับการดำเนินการทางการแพทย์อย่างหนึ่งอย่างใด" โดยประเด็นสำคัญที่มีการ "พิพาท" กันเสมอมาก็คือ ต่างฝ่ายต่างอ้างว่า "เวชระเบียนเป็นของตน" ซึ่งมีแพทย์จำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นว่า เวชระเบียนเป็นของผู้ป่วย เพราะว่าได้มีการบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวกับการป่วยเจ็บ โรค หรือสภาพความบกพร่องของร่างกาย อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติการตรวจต่างๆ ของผู้ป่วย จึงสมควรยิ่งที่จะต้องเป็นของผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ตามยังมีผู้ที่เห็นตรงข้ามโดยอาศัยหลักเกณฑ์ในเรื่องผู้ที่ดำเนินการจัดทำ แรงงานที่ใช้ในการทำให้เกิดเป็นเวชระเบียน และทรัพยากรที่ใช้ในการจัดทำเวชระเบียน จึงสมควรเป็นของแพทย์หรือของสถานพยาบาลที่แพทย์ทำงานอยู่ ในเรื่องความเป็นเจ้าของนี้ ได้เคยมีความเห็นของอดีตเลขาธิการแพทยสภาให้ความเห็นในเรื่องความเป็นเจ้าของเวชระเบียนไว้ว่า "ตัววัสดุที่ใช้ในการจัดเก็บประวัติหรือคือเวชระเบียนนี้เป็นของสถานพยาบาล ส่วนเนื้อหาในเวชระเบียนนั้นเป็นของผู้ป่วย" แต่ก็มิได้ชี้ชัดว่าแล้วจะแบ่งสิทธิอย่างไร และยังมีความเห็นว่าเวชระเบียนเป็นของสถานพยาบาลหรือเป็นของแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพร่วมกันแล้วแต่กรณีด้วย
ความสำคัญของการเป็นเจ้าของเวชระเบียน
ประการสำคัญที่จะต้องทราบก็คือ ใครคือผู้มีสิทธิโดยแท้จริงในเวชระเบียนเพราะเมื่อเป็นของใครแล้วผู้นั้นก็ย่อมจะได้ "สิทธิ" ในการจัดการเกี่ยวกับเวชระเบียนนั้นไปด้วย โดยอาศัยหลักเกณฑ์ในทางแพ่งดำเนินการกับเวชระเบียนในฐานะที่เป็น "ทรัพย์สิน" นั่นเอง ซึ่งน่าจะเป็นไปตามมาตรา ๑๓๓๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ความกระจ่างในเรื่องสภาพแห่งเวชระเบียนนั้นได้เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยการให้ความเห็นของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ จากกรณีอุทาหรณ์ ที่เกิดขึ้น ดังนี้

กรณีอุทาหรณ์
สถานพยาบาล (โรงพยาบาล) ของรัฐแห่งหนึ่งได้ถูกผู้ป่วยที่มารับการรักษาร้องขอ "เวชระเบียน" ของตนเองต่อสถานพยาบาลแห่งนั้น แต่เนื่องจากสถานพยาบาลแห่งนั้นได้ทำเวชระเบียนฉบับดังกล่าวสูญหายไปเนื่องจากเวชระเบียนมีผู้ยืมไปใช้ด้วยกันหลายฝ่ายทำให้หาไม่พบ อย่างไรก็ตามสถานพยาบาลดังกล่าวก็ได้ทำการแจ้งความร้องทุกข์โดยลงบันทึกประจำวันไว้กับสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่เรียบร้อยแล้วว่า "เวชระเบียนสูญหายไป" แต่ผู้ป่วยก็ยังไม่พอใจกับเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยกำลังฟ้องร้องสถานพยาบาลแห่งนั้นในเรื่องมาตรฐานของการรักษาพยาบาล และเห็นว่าสถานพยาบาลต้องรับผิดชอบในเรื่องการสูญหายของเวชระเบียนที่ผู้ป่วยถือว่าเป็นสิทธิของตนเอง

สถานพยาบาลของรัฐแห่งนั้นจึงได้ทำเรื่องสอบถามไปยัง "คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ" ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ต่อมาเรื่องดังกล่าวได้ถูกส่งไปยัง "คณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ" ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้ตอบข้อหารือและส่งกลับให้กับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการและได้ถูกตอบกลับมายังสถานพยาบาลที่ถาม ดังนี้

"คณะกรรมการข้อมูลข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยคณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นว่า เอกสารเวชระเบียนของผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล ถือว่าเป็นเอกสารของราชการ ซึ่งการเก็บเอกสารดังกล่าวต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. ๒๕๒๖.....ฯลฯ"ประเด็นและข้อเท็จจริงที่ได้จากกรณีอุทาหรณ์ข้างต้น
จากกรณีอุทาหรณ์ข้างต้นทำให้ได้ทราบถึงรายละเอียด (วินิจฉัย) ถึงสิทธิใน "เวชระเบียน" โดยเป็นองค์กรของรัฐองค์กรแรกอันมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสาร ที่ได้วินิจฉัย "สิทธิในเวชระเบียน" โดยให้ความหมายไว้อย่างชัดเจนจึงสมควรยิ่งที่จะต้องถือตามการวินิจฉัยนี้อีกทั้งแพทย์ทุกคนรวมถึงผู้บริหารสถานพยาบาลจะต้องทราบไว้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการร้องขอและการดำเนินการกับเวชระเบียนต่อไป

สิทธิในเวชระเบียนตามความเห็นของ "คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ"
ความกระจ่างในเรื่อง "สิทธิของเวชระเบียน" ตามกรณีอุทาหรณ์ข้างต้น อาจแบ่งพิจารณาเรื่องสิทธิเวชระเบียนได้เป็น ๒กรณีใหญ่ๆ คือ
๑. เวชระเบียนของสถานพยาบาลของรัฐ
จากผลการพิจารณาของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ตามกรณีอุทาหรณ์ข้างต้นทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนยิ่งเกี่ยวกับ "สิทธิในเวชระเบียน" กล่าวคือ ในคำวินิจฉัยที่ว่า "เอกสารเวชระเบียนของผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลฯ ถือว่าเป็นเอกสารของราชการ"

"เอกสาร" ตามมาตรา ๑(๗) หมายความว่า กระดาษ หรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น

"เอกสารราชการ" มาตรา ๑(๘) หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่และให้หมายความรวมถึง สำเนาของเอกสารนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย

เมื่อเวชระเบียนเป็น "เอกสารของราชการ" ซึ่งน่าจะเข้ากับการเป็น "เอกสารราชการ" นั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะมาอ้างเพื่อขอเอกสารดังกล่าวไปย่อมไม่อาจเป็นไปได้ การที่จะส่งมอบเวชระเบียนอันเป็นเอกสารของราชการให้กับผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่นได้นั้น จะต้องเป็นไปตามกรอบแห่งกฎหมายเท่านั้น เช่น การที่ศาลมีหมายเรียกพยานเอกสาร (ขอเวชระเบียนมา) เป็นต้น

๒. เวชระเบียนของสถานพยาบาลเอกชนเมื่อเทียบเคียงเวชระเบียนของสถานพยาบาลของรัฐที่กล่าวมาแล้วตามแนวทางการรพิจารณาของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ทำให้เห็นชัดเจนยิ่งว่า "เวชระเบียนของสถานพยาบาลเอกชนต้องเป็นของสถานพยาบาลเอกชนนั้น" อย่างหลีกเลี่ยงมิได้เช่นเดียวกัน ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงกรณีปรับเข้ากับเรื่อง "ลิขสิทธิ์" ในประเด็นงานอันมีลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมกับผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗,

ผลแห่งการตีความเวชระเบียน
เมื่อมีการให้ความกระจ่างในสภาพแห่งเวชระเบียนแล้วจึงอาจพิจารณาผลแห่งการตีความเกี่ยวกับเวชระเบียนเพื่อความเข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้

๑. เวชระเบียนของสถานพยาบาลของรัฐ
๑.๑ เมื่อ "เวชระเบียน" เป็น "เอกสารของราชการ" แน่นอนที่สุดว่า "เอกชน" หรือ "ปัจเจกชน" ใดๆ ย่อมไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของได้ ในที่นี้ย่อมหมายความว่า เวชระเบียนเป็นของสถานพยาบาลของรัฐที่เป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีเวชระเบียนนั้น เช่น โรงพยาบาล ก. จัดทำเวชระเบียนสำหรับผู้ป่วย เช่นนี้ เวชระเบียนดังกล่าวย่อมต้องเป็นของโรงพยาบาล ก. นั่นเอง

๑.๒ ไม่สามารถมอบเวชระเบียนอันเป็นเอกสารของราชการให้กับผู้อื่นได้เว้นเสียแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจไว้ กรณีนี้หมายถึง การที่ นายแดง นายดำ จะมาอ้างเอาเวชระเบียนว่าเป็นของตนและขอเวชระเบียนไป เช่นนี้ ย่อมไม่อาจทำได้เพราะเวชระเบียนเป็นเอกสารของราชการเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นเอกสารของราชการย่อมต้องเข้าข่ายในเรื่อง การขอข้อมูลของราชการ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐๑๐ นั่นเอง

"ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ" หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองหรือความควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐหรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเอกชน

"ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล" หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะส่วนตัวของบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม หรือประวัติการทำงานบรรดาที่มีชื่อของผู้นั้นหรือมีเลขหมาย รหัส หรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทำให้รู้ตัวผู้นั้นได้ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียงของคนหรือรูปถ่าย และให้หมายความรวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วด้วย

มาตรา ๑๕
"ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน
....................................ฯลฯ
(๒) การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน การปราบปราม การทดสอบการตรวจสอบ หรือการรู้แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม
....................................ฯลฯ
(๕) รายงานการแพทย์หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร
....................................ฯลฯ"
มาตรา ๒๕ "ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน และเมื่อบุคคลนั้นมีคำขอเป็นหนังสือ หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้น จะต้องให้บุคคลนั้นหรือผู้กระทำการแทนบุคคลนั้นได้ตรวจดูหรือได้รับสำเนาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลนั้น และให้นำมาตรา ๙ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การเปิดเผยรายงานการแพทย์ที่เกี่ยวกับบุคคลใด ถ้ากรณีมีเหตุอันควรเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเปิดเผยต่อเฉพาะแพทย์ที่บุคคลนั้นมอบหมายก็ได้
..............................ฯลฯ"

ดังนั้นผู้ป่วยจึงมีสิทธิ ๒ ประการตามมาตรา ๒๕ คือ
ก. สิทธิที่จะได้รับการ "ตรวจดู" ในที่นี้หมายถึงการมาดูเอกสารคือเวชระเบียนนั่นเอง
ข. สิทธิที่จะขอสำเนาเวชระเบียนได้ แต่จะขอต้นฉบับจริงไม่ได้ เพราะฉบับจริงเป็นเอกสารของราชการเสียแล้ว การที่ให้เอกสารราชการไปกับเอกชน โดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ย่อมถือว่าเป็นการนำเอาทรัพย์สินของทางราชการไปโดยไม่ชอบได้

ส่วนการที่จะให้นำมาตรา ๙ วรรคสอง และวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น ในกรณีที่เกี่ยวกับเวชระเบียนไม่น่าจะใช้ได้ ดังนี้
"...............ฯลฯ

ข้อมูลข่าวสารที่จัดให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีส่วนที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยตามมาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๕ อยู่ด้วย ให้ลบหรือตัดทอนหรือทำโดยประการอื่นใดที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนนั้น
บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีสิทธิเข้าตรวจดู ขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารตามวรรคหนึ่งได้ ในกรณีที่สมควรหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ จะวางหลักเกณฑ์เรียกค่าธรรมเนียมในการนั้นก็ได้ ในการนี้ให้คำนึงถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยประกอบด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะ บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
................ฯลฯ"

ทั้งนี้เพราะได้มีมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐๑๑ มาจำกัดสิทธิในประการนี้ไว้

"มาตรา ๗ ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้"
๒. เวชระเบียนของสถานพยาบาลเอกชน
สำหรับเวชระเบียนของสถานพยาบาลเอกชนนั้น เมื่อปรับกับการตีความตามแนวทางข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นเอกสารของสถานพยาบาลเอกชนนั้นๆ และย่อมต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตั้งแต่รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ

มาตรา ๔๑๑๒
"สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครองขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
การสืบมรดกย่อมได้รับความคุ้มครอง สิทธิของบุคคลในการสืบมรดกย่อมเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ"

การที่เป็นทรัพย์สินของสถานพยาบาลและถือได้ว่าสถานพยาบาลนั้นมี "กรรมสิทธิ" ในเวชระเบียนแห่งตน จึงพร้อมด้วยสิทธิตามมาตรา ๑๓๓๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังนี้

มาตรา ๑๓๓๖
"ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย" อีกทั้งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารของเอกชน หาได้ตกอยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ไม่ การที่จะเปิดเผยข้อมูลออกไปจึงต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ด้านจริยธรรมที่องค์กรวิชาชีพ คือ "แพทยสภา" ได้กำหนดไว้เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามสภาพแห่งการบังคับของกฎเกณฑ์ด้านจริยธรรมจะมีเพียงใดย่อมเป็นไปตามกรอบแห่งจริยธรรม และไม่อาจนำกรอบแห่งจริยธรรมมาบังคับ หรือละเมิดซึ่งสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องกรรมสิทธิ เนื่องจากเวชระเบียนย่อมเป็นทรัพย์สินของเอกชน สถานพยาบาลเอกชนจึงได้รับความคุ้มครองในเรื่องทรัพย์สินตามกฎหมายข้างต้นด้วย หมายความว่า แม้ว่าแพทยสภาจะได้ออกกฎเกณฑ์ใน "คำประกาศสิทธิผู้ป่วย" แต่ก็ไม่อาจที่จะทำลายหลักในเรื่อง "กรรมสิทธิ" ในทรัพย์สินได้เปรียบประดุจว่า แพทยสภาไม่อาจออกกฎเกณฑ์มาว่าให้เครื่องวัดความดันทุกเครื่องเป็นของส่วนกลางเพราะเท่ากับไปทำลายหลักกรรมสิทธิของผู้เป็นเจ้าของนั่นเอง

สรุป
เวชระเบียนของสถานพยาบาลย่อมถือว่าเป็นเอกสารของสถานพยาบาลนั้น โดยถ้าเป็นเวชระเบียนในสถานพยาบาลของรัฐถือว่าเป็น "เอกสารราชการ" แต่ถ้าเป็นเวชระเบียนของเอกชนย่อมต้องเป็น "เอกสารของสถานพยาบาลเอกชนนั้นๆ" ที่ผู้ป่วยไม่มีสิทธิเอาเวชระเบียนต้นฉบับไปได้ แต่อย่างใดก็ตามในสถานพยาบาลของราชการนั้นผู้ป่วยสามารถที่จะได้รับเวชระเบียนได้โดยอาศัยกฎหมายคือพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ในเรื่องการขอสำเนา ส่วนสถานพยาบาลเอกชนนั้นผู้ป่วยอาจอ้างอิงได้เพียงตามข้อ ๙ แห่งคำประกาศสิทธิผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร (ในเวชระเบียนเฉพาะของผู้ป่วยเองได้) ซึ่งทางสถานพยาบาลอาจให้ผู้ป่วยรับทราบโดยทางวาจา การออกเป็นใบรับรองแพทย์ การสรุปรายงานในเวชระเบียน การให้สำเนาบางส่วนหรือทั้งหมด หรือโดยการให้ต้นฉบับจริงก็ได้แล้วแต่กรณี http://www.simedbull.com/content.php?content_id=2486