ด้วยเหตุผลที่ว่าเวชระเบียน(medical record )เป็นพยานหลักฐานที่สำคัญที่ศาลใช้ประกอบการพิจารณาคดีในคดีที่มีการฟ้องแพทย์หรือสถานพยาบาล ดังนั้นในปัจจุบันเมื่อผู้ป่วยมาขอดูหรือขอถ่ายสำเนา
เวชระเบียน ทางโรงพยาบาลมักไม่ตอบสนองความต้องการดังกล่าวโดยอ้างว่า เวชระเบียนเป็นสมบัติของโรง
พยาบาล และมักเลือกถ่ายสำเนาให้เป็นบางส่วนหรือทำเป็นแค่เพียงใบสรุปประวัติการรักษาให้ ทำให้ปัจจุบัน
เกิดคำถามและข้อสงสัยเป็นอย่างมากว่า “สิทธิในเวชระเบียนเป็นของใครกันแน่”
ในเบื้องต้นเราควรจะแยกองค์ประกอบของเวชระเบียนออกเป็น
1.ส่วนที่เป็นวัตถุจับต้องได้ เช่น กระดาษที่ใช้เขียน ฟิลม์ที่ใช้บันทึกภาพ ซึ่งแน่นอนว่าวัตถุดังกล่าวนี้
เป็นกรรมสิทธิ์ของสถานพยาบาล
2.ส่วนที่เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการดูแลรักษาที่ได้ถูกบันทึกไว้วัตถุที่กล่าวไว้ข้างต้น
การแยกองค์ประกอบออกมาดังกล่าวนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าแท้จริงแล้วที่มีการถกเถียงกันถึงสิทธิ ในเวชระเบียนนี้น่าจะเป็นการพิจารณาโดยมุ่งไปถึงส่วนของข้อมูลที่ได้ถูกบันทึกไว้ในเวชระเบียน และที่จริงแล้ว ในมุมมองของผู้ป่วยเขาคงไม่ได้สนใจถึงกรรมสิทธิ์ของข้อมูลว่าเป็นของใคร เขา เพียงแต่ต้องการ “สิทธิใน การเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของตนที่ได้ถูกบันทึกไว้ในเวชระเบียน”
สิทธิของผู้ป่วยในการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลในเวชระเบียน
( patient’s right to access the medical record )
( patient’s right to access the medical record )
ถ้ามองในแง่ดี การให้โอกาสผู้ป่วยได้เข้าถึงและรับรู้ข้อมูลในเวชระเบียนมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น
1.เมื่อผู้ป่วยรู้ถึงสภาพความเจ็บป่วยของตนมากขึ้นก็น่าจะช่วยให้เขาเข้าใจโรคและร่วมมือกับ การรักษามากขึ้น
2.บางครั้งมีการบันทึกข้อมูลผิดพลาดไม่ตรงตามความจริง เช่นระบุชื่อยาที่ผู้ป่วยแพ้ผิด ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้ตรวจดูเวชระเบียนก็สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดได้เร็ว แต่ถ้าเขาไม่ได้ดูเวชระเบียน ประวัตินั้นก็อาจผิดไปตลอด
ในทางปฎิบัติโรงพยาบาลมักมีข้อจำกัดในการให้ผู้ป่วยเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลในเวชระเบียนเพราะเกรงว่า
ผู้ป่วยอาจพบข้อมูลที่บ่งถึงความบกพร่องในการดูแลรักษา ซึ่งอาจมีผลให้ตนถูกฟ้องร้องได้
ปัญหาในเรื่องนี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา แม้อาจมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันบ้างในแต่ละรัฐ แต่ส่วนใหญ่มีทิศทางไปในทางที่มีแนวโน้มที่จะรับรองว่าผู้ป่วยมีสิทธิในการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลในเวชระเบียนของตน
ในบางรัฐถึงกับมีกฎหมายออกมารองรับ บางรัฐแม้ไม่มีกฎหมายออกมารองรับแต่ก็มีคำพิพากษาของศาลออกมารับรองสิทธิดังกล่าวอยู่ไม่น้อย ผลก็คือผู้ป่วยมีสิทธิตรวจดูเวชระเบียนและขอถ่ายสำเนาอีกทั้งมีสิทธิขอแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้ แต่การใช้สิทธิของผู้ป่วยดังกล่าวก็มีข้อจำกัดโดยโรงพยาบาลมีสิทธิปฏิเสธการเข้าถึงข้อมูลในบางกรณี เช่น กรณีที่อาจกระทบสิทธิส่วนตัวหรือความลับของผู้อื่น, กรณีที่การล่วงรู้ข้อมูลอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วยเอง(เช่น ผู้ป่วยจิตเวช)หรืออาจเกิดอันตรายแก่ผู้อื่น
ย้อนกลับมาดูถึงปัญหานี้ในประเทศไทย พอจะมีกฎหมายที่แสดงถึงเจตนารมณ์ในการให้สิทธิของการเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยดังนี้
1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา58 บัญญัติว่า
“ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศยังเปิดโอกาสให้เรามีสิทธิเข้าถึงข้อมูลสาธารณะได้เลย แล้วทำไมเราจะมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราไม่ได้
2.พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งบังคับใช้กับข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ได้บัญญัติไว้ชัดเจนใน มาตรา 25 ดังนี้
“ภายบังคับ มาตรา14และมาตรา15 บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนและเมื่อบุคคลนั้นมีคำขอเป็นหนังสือ หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นจะต้องให้บุคคลนั้นหรือผู้กระทำการแทนบุคคลนั้นได้ตรวจดูหรือได้รับสำเนาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับบุคคลนั้น …….
……….การเปิดเผยรายงานการแพทย์ที่เกี่ยวกับบุคคลใด ถ้ากรณีมีเหตุอันควรเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเปิดเผยต่อ
เฉพาะแพทย์ที่บุคคลนั้นมอบหมายก็ได้………………………..ถ้าบุคคลใดเห็นว่าข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนส่วนใดไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริง ให้มีสิทธิยื่นคำขอให้……………..แก้ไขเปลี่ยนแปลง
หรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนนั้นได้………….”
จากมาตราดังกล่าวสรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆดังนี้
- คำว่า “ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล” หมายถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล ซึ่งรวมถึง
ประวัติสุขภาพด้วย(อ่านมาตรา4)
- บุคคลมีสิทธิยื่นคำขอเพื่อขอตรวจดูหรือขอสำเนาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตน ที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานของรัฐนั้นมีหน้าที่ดำเนินการตามคำขอนั้น(โดยคิดค่าใช้จ่ายได้) เว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา14และ15ที่หน่วยงานรัฐมีสิทธิปฏิเสธคำขอนั้น เช่น การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง, การเปิดเผยเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร
- บุคคลมีสิทธิยื่นคำขอเพื่อขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตน
เมื่อเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้องตามความจริง
3. คำประกาศสิทธิผู้ป่วย(ข้อ9)ระบุว่า “ ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตนที่ปรากฏในเวชระเบียนเมื่อร้องขอ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น”
แม้คำประกาศสิทธิผู้ป่วยนี้โดยสภาพแล้วไม่มีฐานะเป็นกฎหมายที่จะบังคับให้ปฏิบัติตามได้ แต่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่จะยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกอีกทั้งยังสะท้อนถึงหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ว่า ต้องทำการด้วยความโปร่งใส และตรวจสอบได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดขอสรุปดังนี้
1.วัตถุที่ประกอบขึ้นเป็นเวชระเบียนถือเป็นกรรมสิทธิ์ของสถานพยาบาล
2.กรณีสถานพยาบาลของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งให้สิทธิผู้ป่วยในการเข้าถึง ตรวจดู ขอสำเนา ขอแก้ไข ข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องกับตน และสถานพยาบาลของรัฐนั้นมีหน้าที่ดำเนินการตามคำขอ( เว้นแต่กรณีที่มีข้อห้ามตามกฎหมาย) ซึ่งหากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐปฏิเสธการดำเนินการตามคำขอโดยไม่มีเหตุอันควร ก็อาจถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้( ดู พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา9 )
3.กรณีสถานพยาบาลของเอกชนแม้ไม่ถูกบังคับไว้ด้วยกฎหมายใดๆ แต่เมื่อพิจารณาถึงแนวคิดของสังคมและหลักการตามรัฐธรรมนูญแล้วควรดำเนินการตามแนวทางของภาครัฐด้วย และโดยส่วนตัวเชื่อว่า อีกไม่นานก็คงมีการบัญญัติกฎหมายที่ใช้บังคับกับภาคเอกชนในกรณีนี้ด้วย
นพ.พิทูร ธรรมธรานนท์
พบ. นบ.
เนติบัณฑิตไทย www.medlawstory.com
ให้คุณรู้กฎหมายการแพทย์ได้ง่ายขึ้น
พบ. นบ.
เนติบัณฑิตไทย www.medlawstory.com
ให้คุณรู้กฎหมายการแพทย์ได้ง่ายขึ้น